(เอามาแชร์ต่อจากนก เพื่อนนิเทศ จุฬา ฯ ในฐานะของคนสื่อมองสื่อว่า เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่ออาทิตย์ก่อน)
ผ่านมาแล้ว 4 วัน ฉันกับพี่โตก็ยังคงติดตามข่าวจากสื่อโทรทัศน์ญี่ปุ่นไม่ได้หยุด โทรทัศน์โดยเฉพาะ NHK ที่ญี่ปุ่นทำงานกันเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้แน่ใจว่าได้นำเสนอเรื่องที่คนญี่ปุ่นทุกคนควรจะทราบ รวมไปถึงคนต่างชาติที่อยู่ในญี่ปุ่นที่จะมีโอกาสได้ฟังภาคภาษาอังกฤษ (เป็นบางจังหวะ) หากกดปุ่มเลือกโหมดสองภาษาที่รีโมทคอนโทรลเลอร์
ตอนนี้ฉันอยากเล่าเรื่องเกี่ยวกับสื่อของญี่ปุ่น โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์กับการนำเสนอข่าวที่ฉันรู้สึกว่ามีอะไรน่าสนใจมากๆ สำหรับคนไทยอย่างเรา
เชื่อว่าคนไทยทั่วโลกคงติดตามข่าวการเกิดแผ่นดินไหวและภัยพิบัติสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา นอกจากจะได้เห็นวิธีการจัดการรับมือกับปัญหาในแบบฉบับของคนญี่ปุ่นแล้ว ประเด็นหนึ่งที่ฉันอยากนำมาแชร์กับเพื่อนคนไทยก็คือ เรื่องการนำเสนอข่าวของสื่อโทรทัศน์ญี่ปุ่น ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมอย่างเคร่งครัด
ต้องออกตัวก่อนว่า ฉันเป็นคนไทยที่มาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นได้เกือบปีแล้ว ดังนั้นก่อนหน้านี้สื่อที่ฉันคุ้นเคยดีก็คือสื่อไทย อาจมีสื่อต่างชาติบ้างก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่พอฉันมาถึงญี่ปุ่น สถานการณ์บังคับให้ฉันต้องติดตามข่าวสารและรายการของญี่ปุ่น
และเนื่องจากการติดนิสัยเสียดูโทรทัศน์ไปก็ไม่สนใจแค่เนื้อหา แต่ชอบดูว่ารายการลักษณะแบบนี้คนผลิตผลิตด้วยวิธีอย่างไร อันเป็นสันดานของนักเรียนสื่อสารมวลชนอย่างฉันและเพื่อนๆ ที่เรียนนิเทศศาสตร์มาด้วยกัน ก็ยิ่งทำให้เราสังเกตเห็นอะไรหลาย ๆ อย่างที่ฉันอยากให้สื่อมวลชนของไทยปัจจุบันได้กลับมาทบทวนตัวเอง
อย่างแรกที่ฉันพบความแตกต่างจากการนำเสนอข่าวที่เมืองไทย ก็คือข่าวอาชญากรรม ภาพข่าวโทรทัศน์ของญี่ปุ่นทุกช่องจะไม่เคยถ่ายให้เห็นภาพคนตาย คนบาดเจ็บ อาวุธ หรือภาพที่น่าหวาดเสียวใด ๆ
หากเมื่อไรมีเหตุอาชญากรรมเกิดขึ้น และจับตัวคนร้ายได้โดยมีหลักฐานมัดตัว ข่าวจะใช้การอธิบายว่า นายคนนี้ อายุเท่านี้ ก่อเหตุอะไรขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ ซึ่งภาพข่าวอาจจะแสดงให้เห็นใบหน้าคนร้ายที่ถูกจับกุมตัวเล็กน้อย แล้วก็ตัดไปเป็นสถานที่เกิดเหตุ แต่จะจำกัดเฉพาะจุดที่เกิดเหตุจริงๆ เท่านั้น
สภาพแวดล้อมต่างๆ ถ้าอยู่ในเฟรมภาพเดียวกันจะถูกทำให้เบลอๆๆๆ ไม่ว่าจะเป็นป้ายชื่อหน้าบ้าน รูปทรงของบ้าน แม้กระทั่งทะเบียนรถที่จอดอยู่ใกล้เคียงก็จะเบลอไปทั้งเฟรม โดยเฉพาะถ้าคนที่ถูกจับเป็นเพียงผู้ต้องสงสัย หรือพยานที่เห็นเหตุการณ์ แม้แต่คนที่มายืนมุงรอบข้างก็จะถูกทำให้เบลอที่ใบหน้า และเปลี่ยนเสียงให้เพี้ยนไป เพื่อไม่ให้ผู้ชมเห็นหน้าและได้ยินเสียงที่แท้จริงของคนนั้น
เป็นการรักษาสิทธิส่วนบุคคลของคนดังกล่าวรวมทั้งบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง และรักษาจริยธรรมในการนำเสนอข่าวที่จะไม่แสดงภาพล่อแหลมหรือน่าหวาดเสียว เป็นชนวนให้เกิดการเลียนแบบหรือทำตามอย่าง
ตัวอย่างล่าสุดจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อกลางเดือนมีนาคมนี่เอง ในช่วงสองวันแรก ฟรีทีวีทุกช่อง รวมทั้งช่องโทรทัศน์แห่งชาติอย่าง NHK พร้อมใจกันนำเสนอภาพข่าวเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง
ภาพที่ผู้ชมได้เห็นซ้ำไปซ้ำมาสลับกับการรายงานข่าวในสถานี จะเป็นภาพเหตุการณ์ขณะที่เกิดแผ่นดินไหว คลื่นซัดน้ำเข้าฝั่งทำลายบ้านเรือนพังทลาย ซากกองไม้ที่ปรักหักพังต่างๆ และคนที่หนีพ้นมายืนอยู่บนที่สูง
หลังจากนั้นก็เป็นสภาพในศูนย์อพยพและช่วยเหลือผู้ประสบภัย การแบ่งปันที่นอน การแบ่งปันอาหาร น้ำดื่ม และสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยที่สูญเสียบ้านและทรัพย์สิน โดยตัดมาเพียงประโยคสั้นๆ ที่แม้ผู้พูดจะเศร้าน้ำตานองหน้า แต่ก็กล่าวอย่างสุภาพ ไม่แสดงอารมณ์ฟูมฟายโวยวาย
และที่สำคัญที่สุด ....
ไม่มีภาพศพหรือคนตายให้เห็นแม้แต่คนเดียว รวมทั้งไม่มีภาพการขุดคุ้ยหาศพของเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย ไม่มีภาพใด ๆ ที่น่าอุจาดตาปรากฏทางสื่อเลยแม้แต่น้อย มีเพียงแต่คำบรรยายจากผู้ประกาศข่าวว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยกำลังค้นหาผู้รอดชีวิตอย่างเร่งด่วนที่นั่นที่นี่ มียอดผู้เสียชีวิตจำนวนเท่าใดบ้าง เพียงแค่นั้นก็สื่อสารได้ใจความครบถ้วนที่จำเป็นแล้ว
เหตุการณ์นี้อดทำให้ฉันหวนนึกไปถึงช่วงที่เกิดเหตุสึนามิในประเทศไทย ตลอดสัปดาห์อันเลวร้ายนั้น ฉันต้องดูภาพศพผู้เสียชีวิตที่นอนเกลื่อนชายหาด ศพที่ซ้อนทับๆ กันเป็นภูเขาเป็นซากเน่า แบบไม่ให้เกียรติกับผู้ตายเลยแม้แต่น้อย
แม้จะมีการเบลอบ้างแต่ก็ยังเห็นภาพอุจาดตาน่าสังเวชใจ พร้อมกับเสียงคนร้องไห้คร่ำครวญ ฉันถามคนญี่ปุ่นใกล้ตัวว่า ทำไมในข่าวของญี่ปุ่นจึงไม่มีภาพแบบนี้...คำถามที่ฉันได้รับแทนคำตอบก็คือ
“ก็ถ้านำเสนอภาพคนตายน่ากลัวหรือมามัวคร่ำครวญแบบนั้น แล้วมันได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาบ้างล่ะ?”
อือม์...นั่นสินะ...
หดหู่ น่ากลัว เห็นคนตายเหมือนซากศพ เกิดภาพติดตา นำไปฝันร้าย ไม่ให้เกียรติผู้ตาย ทำลายจิตใจผู้สูญเสียซ้ำลงไปอีก พอเห็นภาพคนตายบ่อย ๆ ก็ชิน ทำให้จิตใจหยาบกระด้าง ไม่เห็นมีอะไรสร้างสรรค์สักอย่าง นอกจากอารมณ์ปลงสังเวช
ในวันที่สองและสามของเหตุการณ์ มีข่าวใหญ่เป็นผลต่อเนื่องจากเหตุสึนามิ นั่นคือ ความร้อนและการระเบิดของอาคารเตาปฏิกรณ์ปรมาณูในโรงไฟฟ้าพลังปรมาณูที่ฟูคุชิมะ โทรทัศน์เกือบทุกช่องนำเสนอรายการเพื่ออธิบายการทำงานของโรงไฟฟ้าเพื่อให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายที่สุด
โดยการทำเป็นภาพวาดประกอบ เชิญผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์สลับกับการแถลงข่าวจากผู้แทนรัฐบาล แล้วก็วิเคราะห์ข่าวที่แถลงนั้นอีกที เพื่อให้คนที่เกิดคำถาม ได้ถามและตอบข้อสงสัยอย่างกระจ่าง มีการประกาศแผนที่ประชาชนต้องพึงปฏิบัติในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ รวมทั้งการแถลงแนวทางแก้ไขปัญหาในทุกๆ ด้านที่เกี่ยวข้อง
ทั้งเรื่องมาตรการประหยัดไฟฟ้าและพลังงานต่างๆ สลับกับการเสนอภาพความร่วมมือด้วยดีของประชาชนที่พากันเข้าคิวอย่างเป็นระเบียบเพื่อซื้ออาหาร ตุนน้ำดื่ม หรือรอโทรศัพท์ ฯลฯ
จนล่วงเข้าวันที่สี่ที่หลายคนเริ่มปรับสภาพใจให้ชิน ยอมรับกับเหตุการณ์ได้บ้างแล้วนั่นแหละ ภาพข่าวจึงค่อยเปลี่ยนโทนมาเสนอเป็นภาพจากคลิปวิดีโอที่ถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือของผู้ประสบภัยบ้าง ได้ยินเสียงผู้คนตื่นเต้นตกใจกับคลื่นที่พัดผ่านหมู่บ้าน เสียงสะอื้นไห้ของคน ทั้งที่พลัดพรากจากญาติมิตรและที่ดีใจที่ได้เจอกัน
ในความเห็นของฉัน สื่อมวลชนญี่ปุ่นนั้นเคร่งครัดในจริยธรรมการนำเสนอข่าวและเข้าใจหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างดีน่านับถือมาก การเลือกนำเสนอภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยผ่านการไตร่ตรอง ไม่ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง แต่เลือกเน้นหนักในข้อเท็จจริง
ทำให้ประชาชนที่ตระหนกตกใจกับเหตุการณ์ฉุกเฉินสามารถเรียกสติกลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว และหันมามองการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และแก้ปัญหาระยะยาวเพื่อดำเนินชีวิตต่อไป ไม่มัวเสียเวลานั่งฟูมฟายร้องไห้กับความสูญเสียที่เรียกคืนไม่ได้ แต่ลุกขึ้นสู้กับปัญหาด้วยปัญญา ทั้งยังปลูกฝังแนวคิดให้ความร่วมมือกับส่วนรวมมากที่สุดเท่าที่แต่ละคนจะทำได้ ไม่ทำตัวเองให้เป็นปัญหากับคนอื่น และเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกันแม้ในยามวิกฤตสุดยอด เป็นสิ่งที่ฉันรู้สึกชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง
ถึงนาทีนี้แล้วคงสะท้อนให้เห็นชัดเจนล่ะว่า สื่อมวลชนที่มีคุณภาพสามารถชี้นำสังคมให้ดำเนินไปในทางที่ดีได้จริงๆ