วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อาจารย์เก่ง

อาจารย์เก่ง เก่งสมชื่อ
ชีวิตของแต่ละคน ต่างมีแง่มุมและมิติที่แตกต่างกันไป ไม่เพียงแต่เราไม่อาจไปตัดสินชีวิตใครได้แล้ว เราอาจจะยังต้องเคารพสิทธิ์ในการใช้ชีวิตของคนนั้น ๆ ด้วย ความเหมือนในความต่าง และความต่างในความเหมือน
ต่างมีแง่มุมของมันจนยากจะอธิบาย
อะไรคือสิ่งที่ใช่, ไม่ใช่, ถูก,ไม่ถูก
หรือแม้แต่เราเองที่คิดไปว่า ชีวิตเรานั้นถ้าเปรียบเป็นเส้นกราฟ แล้วจะเป็นเส้นกราฟที่ตกขอบตลอดเวลา อันนั้นก็ยังไม่สามารถเอาความรู้สึกของเราไปตัดสินหรือนั่งในความรู้สึกของแต่ละคนได้ว่า ถ้าเป็นอีกคนหนึ่งที่เข้ามาสวมบทบาทเป็นชีวิตของเรา เขาอาจจะมีแง่มุมที่มองไปคนละทิศทางเดียวกับเรา ไอ้ที่เราว่าตกขอบอาจจะกลายเป็นกราฟชีวิตที่มันขึ้นจนสุดขอบอีกฟากหนึ่งต่างหาก
วันนี้ได้แง่คิดและมุมดี ๆ จากเพื่อนอาจารย์ที่เอแบคด้วยกัน จากการให้สัมภาษณ์เรื่องราวชีวิตส่วนตัวของเธอ อาจารย์เก่งเป็นผู้หญิงร่างเล็ก ผิวขาว บอบบาง มองเผิน ๆ ไม่รู้เลยว่าเธอได้ผ่านชีวิตอะไรมาบ้าง
จนกระทั่งในวันหนึ่ง เมื่อน้องตะโกนออกมาจากห้องน้ำว่า
นี่อาจารย์เก่งนี่
ตะโกนไม่ตะโกนเปล่า พร้อมกับหยิบนิตยสารเล่มนั้นออกมาให้อ่าน พร้อมกับเรื่องราวของผู้หญิงคนนี้ก็มาโลดแล่นอยู่ตรงหน้า นี่คือที่มาของการสัมภาษณ์ในวันนี้ เป็นบรรยากาศที่เราคุยกันในห้องเรียน ในวันสบาย ๆ วันหนึ่งก่อนสิ้นปี ไม่รู้ตัวมาก่อนเลยว่า แม้จะได้รับรู้เรื่องราวของเธอมาบ้างผ่านตัวหนังสือ แต่ก็ยังอดมีน้ำตารื้น ๆ ออกมาช่วงขณะที่เรามีเวลาคุยกันเพียงไม่ถึงชั่วโมง
อาจารย์เก่งเล่าให้ฟังว่า หลังจากจบการศึกษาปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา มีความคิดละล้าละลังว่าจะทำอะไรต่อ จะกลับเมืองไทยหรือหางานทำและเก็บเงินสักพักต่อดี เธอใช้เวลาคิดไม่นาน เมื่อภาพข่าวได้ถ่ายทอดเรื่องราวเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นที่เมืองไทยเมื่อ 7 ปีก่อน
เหตุการณ์ครั้งนั้นมาแบบไม่ทันตั้งตัวสำหรับหลายคนรวมทั้งตัวเธอด้วย และคงจะเป็นเวลาที่เธอเองก็ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวว่าจะต้องกลับบ้านเกิดเมืองนอนเสียที ด้วยความมุ่งมั่นอย่างเดียวคือ อยากกลับไปช่วยคนเหล่านั้น
กลับมาทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่า ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ อย่างเธอจะช่วยได้อย่างไร และจะเริ่มต้นการช่วยเหลือจากตรงไหน ตอนนั้นคิดเพียงแค่ว่ากลับมาก่อน แล้วค่อยว่ากัน
เธอกลับมาและได้รับการติดต่อโดยเพื่อนว่า มีกลุ่มอาสาสมัครปักหลักอยู่ที่เขาหลัก จังหวัดพังงา และยังต้องการความช่วยเหลืออีกมาก ณ เวลานั้น อาจารย์เก่งไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่า เก็บของใส่กระเป๋าและพร้อมออกเดินทาง (ด้วยเงินของเธอเอง) เพื่อไปยังที่สถานที่นั้นให้เร็วที่สุด
จากโครงการณ์ที่ก่อตั้งขึ้นมาด้วยแรงของอาสาสมัครล้วน ๆ เธอไม่รู้เลยว่า เธอยังคงต้องใช้ชีวิตที่นั่นอีกหลายปีต่อมา เพื่อให้โครงการณ์มันเดินไปด้วยตัวของมันเองได้ และบรรลุเป้าหมายในการส่งต่อความช่วยเหลือไปยังคนที่ประสบกับภัยสึนามิครั้งนี้
ในระหว่างทางของช่วงหลายปีที่เธอใช้ชีวิตอยู่ที่นั้น มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายกับชีวิตผู้หญิงคนนี้ แต่แปลกตรงที่เธอเล่าว่า เธอโชคดี เธอเน้นและพูดย้ำ ๆ บ่อย ๆ ว่าเธอโชคดี ทั้ง ๆ ที่ถ้าเป็นเราเองที่ต้องเจอเหตุการณ์แบบนั้น คงจะพูดไม่ออกหรือการสัมภาษณ์ในวันนี้คงจะไม่เกิดขึ้น เพราะเราเองอาจจะไม่มีเรี่ยวแรงพอที่จะมาตอกย้ำสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ไม่มีใครอยากจะเล่าเรื่องฝันร้ายซ้ำ ๆ
แต่ตรงกันข้าม อาจารย์เก่งเล่าด้วยท่าทางยิ้มแย้มแจ่มใส เหมือนอะไรที่เธอผ่านมาเป็นเรื่องขี้ผงสำหรับผู้หญิงตัวเล็ก ๆ อย่างเธอ (แต่ในความรู้สึกของเรา อาจารย์เก่งเป็นคนที่หัวใจสวยมากต่างหาก) เธอบอกเคล็ดลับกับเราไว้อย่างเดียวว่า
สติเท่านั้น จะทำให้เราผ่านมันไปได้
สติทำให้เธอผ่านเรื่องราวร้าย ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ขอต่อเป็นภาคสองของอาทิตย์หน้าแล้วกันนะคะ
ขอให้เรามีสติและใช้ชีวิตอย่างสุขสันต์ ในวันปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้
Merry Christmas and Have a happy New Year to you all.

วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

รถเต่าในความทรงจำ

ขอบคุณรูปจากแสน เพื่อนนิเทศ
เชื่อว่าทุกคนคงจะเคยมีความสุขกับโลกใบเก่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยเด็ก, เริ่มเข้าวัยรุ่น, วัยเรียน, รุ่นหลังเรียนจบใหม่ ๆ หรือแม้กระทั่งวัยทำงาน ความสุขของเราแต่ละคนคงต่างกันไปตามความนึกคิด และรสนิยมที่แตกต่างกัน
วันนี้เป็นวันดี ๆ อีกวันหนึ่ง ที่เราได้ย้อนตัวเองกลับไปในช่วงเวลาเหล่านั้น ผ่านรถโฟล์คเต่าเก่า ๆ ของเพื่อนเก่า ซึ่งได้ถือกำเนิดปีเดียวกันกับเราคือปี 1971 รถคันนี้นับรวมอายุได้ 40 ปีพอดี ๆ จะว่าเก่าก็เก่า จะว่าแก่ก็แก่ แต่มันเป็นแอนทีค คงจะประเมินค่าไม่ได้สำหรับคนนิยมของเก่า
จำได้ว่าสมัยเรียนจุฬา ฯ เราเอารถของป้ามาขับ เป็นรถโฟล์คเต่ารุ่นเดียวกัน ปีเดียวกันนี่แหละ  รถคันนี้มีตำนานความรักอบอวลเต็มไปหมด เพราะเป็นรถที่ป้ากับลุงซื้อมาในช่วงแต่งงานกัน เราเองถือวิสาสะช่วงที่ลุงซื้อรถใหม่ และป้ายังขับรถไม่เป็น เอามันเอามาวิ่งเล่น (และตาย) บนถนนได้อยู่หลายปี
ช่วงที่ขับตอนนั้น จากสามย่านถึงวิภาวดี รู้สึกว่าไม่ได้ไกลอะไรมากมาย เพราะรถยังไม่หนาแน่นเหมือนทุกวันนี้ แต่เป็นเพราะรถที่ค่อนข้างเอาใจยาก อยากวิ่งก็วิ่ง อยากจะดับก็ดับ (แบบไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า)
ยิ่งถนนวิภาวดีเมื่อ 20 ปีก่อน ยังเป็นถนนโล่ง ข้างทางบางช่วงยังเป็นทุ่งนาอยู่บ้าง และตึกรามบ้านช่องก็ยังบางตา และที่สำคัญในช่วงที่เทคโนโลยียังเข้ามาไม่ถึง ลืมคำว่าโทรศัพท์มือถือไปได้เลย ในกรณีที่รถเสียแล้วจะโทรหาใครเพื่อขอความช่วยเหลือ
เพราะฉะนั้น ตนจึงเป็นที่พึ่งแห่งตน
จำได้ว่า ทุกครั้งที่สตาร์ตรถออกจากบ้าน จะต้องภาวนากับตัวเองว่า ขออย่าให้ดับกลางสะพานเป็นพอ ไม่ได้ขอถึงขนาดไม่ให้เสียกลางทาง หรือทุกครั้งที่ขับออกจากจุฬา ก็จะขอแค่ว่าจะดับก็ขอให้ดับตรงช่วงที่มีคนเยอะหน่อย เพราะค่ำมืดบนถนนวิภาวดี มันเงียบเหงาวังเวงชอบกล
วันไหนฝนตกต้องเตรียมใจไว้ได้เลย
ว่ารถจะกลายเป็นอ่างปลาโดยธรรมชาติ
หลังจากญาติดีกันก็แล้ว (ด่ามันบ้างบางครั้ง) ก็เหมือนจะสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง เคยคิดสาปส่งว่าชาตินี้ขออย่าให้มาเจอกันอีกเลย แต่หลังจากปลดระวางมัน แล้วมาขับรถกลางเก่ากลางใหม่คันต่อมา แปลกแต่จริงเคยคิดถึงกลิ่นของรถเต่าอยู่บ่อย ๆ ถ้าใครขับรถยี่ห้อนี้จะรู้ว่า มันมีกลิ่นเฉพาะตัวโดยเฉพาะเวลาเราเปิดประตูเข้าไปนั่ง
วันนี้กลิ่นนั้นก็ยังอยู่
แม้จะไม่ใช่รถของป้า
และมันยังคงเข้ามากวนจิตใจพาตัวเองกลับไปในวันเวลาเก่า ๆ
ของบางอย่างกับคนบางคน ไม่ใช่เรื่องที่จะลืมกันง่าย ๆ แม้ว่าตัวเองจะบอกว่า ไม่เอาอีกแล้วรถโฟล์คเต่า แต่มีหลายครั้งที่เราแอบมองคนขับรถเต่า พร้อมกับบอกตัวเองว่า ถ้ามีโอกาสอยากจะกลับไปขับมันอีกสักครั้ง
ขอบคุณเพื่อนเก่าที่พาเรากลับไปช่วงในวันเวลาทั้งดีและไม่ดีเหล่านั้น
มันเป็นความทรงจำที่สนุก ทั้งสุขปนทุกข์ เพราะนึกถึงทีไรก็อดยิ้มไม่ได้สักที
ว่าแล้วเสียงป้าก็ลอยเข้ามาในหูแว่ว ๆ ว่า
วันนี้รถเสียอีกรึเปล่าลูก




วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Monday Disease


ภายใน 7 วันใน 1 อาทิตย์ของช่วงวัยทำงาน คงมีบางวันที่เป็นวันที่เราโปรดปรานมากที่สุด ในขณะที่ยังมีอีกบางวันที่เราไม่อยากให้มันมาถึงเลย หรือมาแล้วก็อยากให้วันนั้นผ่านไปเร็ว ๆ อย่างคืนวันอาทิตย์ที่เราคอยเฝ้าภาวนาให้มันผ่านไปอย่างช้า ๆ และในขณะเดียวกัน เราอยากจะไปหมุนเข็มนาฬิกาให้วันจันทร์ผ่านไปให้เร็วที่สุด
ตั้งชื่อให้อาการที่เกิดขึ้นแบบนี้ด้วยตัวเองว่า Monday disease…
เราเองเคยเป็นอาการแบบนี้บ่อย ๆ ไม่ใช่เพราะเป็นเช้าวันแรกที่ต้องไปทำงาน แต่เป็นเช้าวันแรกที่ต้องไปสอนหนังสือ การสอนหนังสือจะว่าไปจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ขึ้นอยู่กับว่าเรารู้สึกสนุกกับห้องเรียน, นักเรียน, และวิชาที่เราไปร่วมแชร์ประสบการณ์ด้วยขนาดไหน
แต่เพิ่งสังเกตหลังจากที่มีอาจารย์ที่โรงเรียนทักทายเมื่อวานนี้ว่า
ดูท่าทางอาจารย์มีความสุขจัง
เออ ใช่แฮ่ะ อาการ Monday disease หายไปไหนแบบไม่รู้ตัว จนแอบมาคุยกับตัวเองว่า คงเป็นเพราะเราได้ทำอะไรในสิ่งที่เรารักจริง ๆ เมื่อเรารักที่จะทำแล้วเราจะไม่รู้สึกเหนื่อยกับมัน แต่ความสุขมันจะเข้ามาแทนที่แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว
เทอมนี้ได้รับภารกิจสอนวิชา Magazine/Feature Writing ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่ตัวเองชอบ ไม่ได้มีความกล้าที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียน แต่กล้าที่จะเรียกตัวเองว่ารักที่จะเป็นคนเล่าเรื่องผ่านเรื่องราวตัวหนังสือ ไม่ได้อาจหาญว่าตัวเองเขียนหนังสือดี แต่ยังชอบและเข้าใจว่าตัวเองเป็นคนหลงใหลในตัวหนังสือ
อาการกังวลก่อนเข้าห้องสอนมาหายไปเมื่อไม่นานมานี้ อาจจะเป็นเพราะว่า เราเองไม่ได้มีความตั้งใจที่จะไปสอน แต่ตั้งใจที่จะเอาความรู้และประสบการณ์ที่ตัวเองมีไปแชร์ให้เด็ก ๆ ฟัง และเหมือนของขวัญล้ำค่ามากขึ้นไปอีก ที่เราได้มีโอกาสฟังนักเรียนร่วมเล่าเรื่องราวของเขาผ่านการพูดคุยไปด้วยกัน
เด็กชายต้า (บังเอิญชื่อเหมือนกัน) ยกมือขึ้นและถามด้วยน้ำเสียงแบบปนรำคาญประมาณว่า (หลังจากนั่งนิ่งฟังเล็คเชอร์ไปประมาณหนึ่ง)
ทำไมการเขียนเรื่องสักเรื่อง ต้องคิดอะไรมากมาย
แค่คิดอยากจะเขียนแล้วลงมือเลย ก็น่าจะพอแล้วนี่ครับอาจารย์
คำถามของเขาทำให้ทั้งห้องหันมามองเขาเป็นตาเดียว กะประมาณสายตาว่า
เออ ไอ้นี้มันกล้าดีเฟ้ย
หลังจากนั้น สายตาหลายคู่เบนกลับมาจับจ้องที่เรา พร้อมรอคอยการตอบกลับอย่างใจจดใจจ่อว่า อาจารย์จะว่าอย่างไรกับคำถามแบบขวานผ่าซากของเขาแบบนี้
อย่างแรก เราตอบไปว่า อาจารย์รู้สึกภูมิใจในความกล้าคิดกล้าถามของเด็กชายต้า
อย่างที่สอง ใช่ บางครั้งการเขียนไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความอยากที่จะเขียน
อย่างที่สาม ในบางมิติ บางทีการหาข้อมูลหรือการวางแผนในการเขียนก็ไม่ได้ทำให้เราเสียหน้าอะไร
และอย่างสุดท้าย คำถามของคุณในวันนี้ทำให้อาจารย์มีความสุขมาก



เหนื่อยแต่อิ่มใจ


ในช่วงภาวะวิกฤตน้ำท่วมที่เรากำลังรวมพลัง และเดินฝ่ามรสุมลูกนี้ไปด้วยกันอยู่ในขณะนี้ จะว่าไปก็มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นในสังคมไทยของเรา พอให้เราได้ชื่นใจในยามที่หลายคนกำลังเดือนร้อนกันอย่างน่าเห็นใจ
คำว่า จิตอาสาเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่นาน แต่ก็จะเหมือนเป็นคลื่นลูกใหม่ที่มาแรงและเร็ว มีหลายกลุ่มหลายฝ่ายผ่านทั้งองค์กรใหญ่ และสมัครพรรคพวกของตัวเอง เปลี่ยนวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้เป็นโอกาส ได้หยิบยื่นความช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่าที่จะทำได้
ใครมีเงิน ลงเงิน
ใครมีแรง ลงแรง
ใครไม่มีทั้งเงิน ไม่มีทั้งแรง ก็ส่งกำลังใจไปช่วย
ในมุมมืดย่อมมีแสงสว่างอยู่เสมอ เราว่ามันเป็นโอกาสที่ดีนะ ที่จะออกไปช่วยเหลือคนที่รับน้ำแทนเรา คิด ๆ ไปยังดีกว่าเอาเวลาไปตากแอร์เย็น ๆ ทุก ๆ เสาร์อาทิตย์ตามห้างสรรพสินค้าอีกนใครที่ได้ทำแล้วคงจะรู้ว่า การให้มันทั้งอิ่มและสุขใจมากกว่าการรับเป็นไหน ๆ
อย่าง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา เราพร้อมด้วยเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ชาวนิเทศ จุฬา ฯ ได้รวมตัวกันเฉพาะกิจ นำของออกไปช่วยเหลือคนถูกน้ำท่วมที่ลำลูกกา ปทุมธานี และอำเภอบางเลน นครปฐม ซึ่งใน 2 พื้นที่นี้ ได้รับการยืนยันจากทหารที่อยู่ในพื้นที่ว่า ชาวบ้านยังได้รับความเดือดร้อนอยู่มาก
และเมื่อไปแล้ว ก็เห็นว่าจริงโดยเฉพาะช่วงอาทิตย์แรก ที่เราเลือกไปลงยังพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพ ฯ ก่อน แถวลำลูกกาช่วงนั้น ชาวบ้านยังอยู่กันอย่างยากลำบาก สังเกตจากที่พวกเขายังเดินทางกันด้วยเรือ และโดยสารรถทหารกันเป็นส่วนใหญ่
แม้แต่พวกเราที่เข้าไปช่วยเหลือ ยังจำเป็นต้องโหลดของจากรถลงเรือพร้อม ๆ กับทีมทหาร ที่เรามาผนึกกำลังกัน เพื่อกระจายข้าวของเข้าไปยังพื้นที่ ๆ ความช่วยเหลือยังเข้าไปไม่ถึง
ถามว่าร้อนไหม? ร้อน
ถามว่าเหนื่อยไหม? เหนื่อย
ถามว่าลำบากไหม? ลำบาก
แต่ความร้อน ความเหนื่อย ความลำบาก มันไม่ได้มากไปกว่าความสุขใจที่ได้รับ อันนี้มันเทียบกันไม่ได้เลยจริง ๆ ใครจะว่าเราสร้างภาพอะไรก็ช่าง แต่อยากให้ลองหาโอกาสออกไปสัมผัสดู แล้วจะรู้ว่าความสุขของการให้มันสุดยอด
หลังจากผ่านไปอีก 1 อาทิตย์ ทีมเราตัดสินใจลงพื้นที่กันอีกครั้ง คราวนี้มาทางฝั่งโซนตะวันตกกันบ้าง เลือกลงแถวบางเลน นครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ น้ำท่วมมาก่อนพื้นที่อื่น และในขณะที่พื้นที่อื่น น้ำเริ่มจะลดระดับลงบ้าง แต่ระดับน้ำที่บางเลนยังไม่ลดลงเท่าที่ควร
คราวนี้เราเพิ่มทีมงานจาก 15 คนเป็น 30 คน ทริปนี้เราแบ่งกันออกเป็น 6 ทีมย่อย แจกจ่ายของออกไปทั้งทางเรือและทางน้ำ และด้วยความช่วยเหลือและประสานงานของทหารเช่นเคย ที่ทำให้ภารกิจของเราเสร็จสิ้นลงไปได้
ตอนแรกนึกว่าทริปบางเลนจะไม่หนักเท่าทริปลำลูกกา เพราะเข้าไปแจกของชั่วโมงกว่าก็ออกมารอที่วัด ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการรวมพล แต่งานมาหนักเอาช่วงบ่าย เมื่อพวกเราต้องลงพื้นที่เข้าไปทำความสะอาดให้โรงเรียน
คงจะเป็นเพราะน้ำที่ขังมานาน ประกอบกับอากาศที่ร้อนอบอ้าวช่วงบ่าย ทำให้พวกเราหลายคนถึงกับปาดเหงื่อไปตาม ๆ กัน เมื่อต้องเคลียร์โรงเรียนก่อนที่น้อง ๆ จะเปิดเทอม
เป็นงานที่หนักจริง เหนื่อยจริง แต่ก็มีความสุขใจจริงอีกเหมือนกัน