วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

ฟ้ายังฟ้าอยู่

ถนนกว้าง กับฟ้าสีฟ้า เมฆสีขาว

เพิ่งรู้ว่าตัวเองไม่มีโอกาสได้ยืนมองท้องฟ้าเต็ม ๆ มาสัก 2-3 เดือนก็วันนี้นี่เอง วันที่ได้ฤกษ์เก็บของลงกระเป๋า แล้วชีวิตก็เริ่มต้นเดินทาง
ตัดสินใจว่าจะขับรถขึ้นเหนืออีกสักครั้ง
กับเส้นทางเดิม
จริง ๆ การเดินทางไปในสถานที่เดิม ขอยืนยันว่าไม่ใช่สิ่งที่น่าเบื่อ เพราะจุดหมายปลายทาง อาจจะไม่สำคัญเท่ากับเรื่องราวระหว่างทางที่เกิดขึ้น
เพื่อนหลายคนส่ายหน้าไม่แนะนำให้ไป เพราะว่าตอนนี้ไม่ควรจะขับรถขึ้นเหนือ เพราะฝนตก อันตรายเกินไป แต่ด้วยหัวใจที่เหมือนมันโบยบินไปไหนต่อไหนแล้วมั้ง นี่เป็นที่มาของการเดินทางครั้งนี้
และเพื่อเป็นการประนีประนอม เราตกลงกันเองกับคนใกล้ตัวว่า ไม่ต้องจองโรงแรม ไม่ต้องวางแผน ถึงที่ไหนก็นอนที่นั่น เพียงแต่กะเอาคร่าว ๆ ว่าจะขับไปให้ถึงเชียงใหม่ถ้าฝนไม่ตกหนักระหว่างทางมากเกินไป
แล้วก็ดูเหมือนฟ้าฝนจะเป็นใจ ฟ้าสีฟ้า ปุยเมฆสีขาว ทุ่งหญ้าสีเขียว เป็นเพื่อนของเรามาตลอดทางจากกรุงเทพถึงเชียงใหม่
คิดไม่ผิดจริง ๆ ที่ตัดสินใจขับรถแทนการนั่งเครื่องบินครั้งนี้
บอกเพื่อนว่าจะไปเที่ยว เพื่อนถามว่า
ปีหนึ่งนี่เที่ยวกี่ครั้งกัน (ฟร่ะ)”
ชีวิตน่าอิจฉา
เอาเงินที่ไหนมาเที่ยวได้บ่อย ๆ
เราว่าจะไปไม่ไป เดินทางไม่เดินทาง จริง ๆ แล้วขึ้นอยู่กับตัวเราเองมากกว่า ส่วนเรื่องเงินนั้น ขอตอบว่ามันไม่จำเป็นต้องรอให้ธนบัตรเต็มกระเป๋าเสียก่อนแล้วถึงไปได้ เราว่ามันขึ้นอยู่กับเรามากกว่าว่าจะกินอยู่อย่างไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ยากจนเกินไปสำหรับนักบริหารแบบขาด ๆ เกิน ๆ อย่างเรา
แล้วก็เพื่อนอีกนั่นแหละที่ถามว่า
ทำไมไม่นั่งเครื่องบินไป แล้วค่อยไปเช่ารถต่อ น่าจะสบายกว่ากันเยอะ ไม่เสียเวลาด้วย
แต่เราว่าการเดินทางไม่เคยทำให้เราเสียเวลา
เรื่องแบบนี้เป็นความชอบส่วนบุคคลจริง ๆ ตอบตามตรงถ้าหลีกเลี่ยงได้ เรามักจะเลือกใช้รถในการเดินทางอยู่เสมอ ไม่ว่าเครื่องบินจะทำให้เราย่นระยะทางได้มากแค่ไหน แต่เสน่ห์ของการใช้รถอยู่ตรงที่เราสามารถชื่นชมกับสิ่งที่เราผ่านไปตามทาง
อยากจะแวะตรงไหนแวะ
อยากจะพักตรงไหนพัก
อยากจะนอนตรงไหนนอน
ไม่ต้องมีเวลามากำหนดกะเกณฑ์ให้เราต้องไปสนามบินเวลานั้นเวลานี้ ต้องขึ้นเครื่องตอนนี้ บางทีที่เราได้หลุดออกจากกรอบอะไรเดิม ๆ บ้าง ก็น่าจะเป็นรางวัลให้แก่ชีวิตมิใช่หรือ?
อาทิตย์หน้าน่าจะมีเรื่องเล่าจากคนเดินทางตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งมาเล่าให้ฟังต่อ ไปเจออะไร ไปที่ไหน อย่าลืมภาคต่อของการเดินทางครั้งนี้  

วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2553

แค่เปิดประตู

บทแรกของหนังสือว่าด้วยเรื่อง "ความกลัว"

ตลอดชีวิตรู้ตัวเองมาตลอดว่าเป็นคนเดินช้า
แต่เป็นคนเดินเก่ง
คือเก่งแบบช้า ๆ ทำอะไรช้า คิดอะไรช้า กว่าจะเดินแต่ละก้าวผ่านกระบวนการทางความคิดมาค่อนข้างมาก ถึงเมื่อมั่นใจและแน่ใจว่าจะเดิน ถึงค่อย ๆ ก้าว
เป็นคนทำอะไรช้าตั้งแต่เด็ก จนจำคำบ่นของแม่ได้ขึ้นใจว่า อยากให้ลูกเดินเร็วขึ้น
ถึงแม้จะเป็นคนช้า ๆ แต่รู้สึกจะมีอยู่อย่างเดียวว่า ตัวเองทำได้เร็วกว่าเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกัน คือกีฬาบาสเกตบอล ขอแค่เอาตัวเข้าไปอยู่ในสนามเถอะ เมื่อนั้นรู้สึกเอาเองว่า โลกมันอยู่ใต้กำมือเรา รู้สึกว่า ความเร็วมันช่างหอมหวานก็เมื่อตอนที่ลูกบาสอยู่ในมือ พร้อมกับตาที่มองไปข้างหน้า
แม้ว่าทุกวันนี้สภาพร่างกายจะไม่เหมือนเดิม แต่ทุกครั้งที่ได้ยืนอยู่บนสนาม ใจมันออกมาวิ่งแทนไปถึงไหน ๆ แต่พอกลับบ้าน ถึงเพิ่งรู้ว่าร่างกายเรามันไม่เหมือนเดิม อาการปวดเข่าอย่างทรมานจะเข้ามาถามหา พร้อมกับบอกตัวเองว่ายังไม่เข็ดอีกหรือ ?
ย้อนกลับไปตรงที่บอกว่าเป็นคนเดินช้า แต่เป็นคนเดินเก่ง เพราะไม่ค่อยหยุดนะกับการเดินไปในแต่ละก้าวของชีวิต คือเดินไปเรื่อย ๆ แบบช้า ๆ เพราะรู้ว่าเดินช้ากว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นเราต้องขยันเดิน บางครั้งจะให้เดินย้ำเท้าอยู่กับที่กับเอา
ที่อาทิตย์นี้เอาเรื่องของคนเดินช้ากลับมาเขียนอีกครั้งหนึ่ง เพราะนึกย้อนกลับไปเลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า จริง ๆ แล้วเราไม่ใช่คนเดินช้ากว่าคนปกติหรอก แต่จริง ๆ แล้วเราเป็นคนขี้ขลาดรึเปล่า
ถ้าใครเป็นแฟนคอลัมน์ตัวยง หรือติดตามเรื่องราวจาก www.jirastoryteller.com (ซึ่งตอนนี้ได้ย้ายไปอยู่บ้านใหม่ที่ http://jirastoryteller.blogspot.com/) อาจจะจำได้ว่าในหนังสือพ็อกเก็ตบุ้คเล่มแรก บันทึกฅนเล่าเรื่องของเรานั้น บทแรกของหนังสือเป็นเรื่องของความกลัว
กลัวที่จะก้าว
กลัวที่จะผิดหวัง
กลัวที่จะไม่ประสบความสำเร็จ
กลัวจนไม่กล้าจะทำอะไร
ทั้ง ๆ ที่เขียนเองว่า อย่าไปกลัวเพราะชีวิตของคนขี้กลัว เป็นชีวิตที่ขี้ขลาด แต่มานั่งลองคิดดูแล้ว เหมือนคนเขียนเองยังไม่สามารถทำความเข้าใจกับเจ้าความรู้สึกกลัวที่อยู่ลึก ๆ อยู่ข้างในตัวเองด้วยซ้ำ
ทุกวันนี้ยอมรับอย่างไม่อาย ยังคงใช้ชีวิตอยู่ด้วยความกลัวมาตลอด
และยิ่งช่วงนี้เจ้าความกลัวมันมาเยือนแทบทุกคืน
คืออยากจะมีชีวิต ทำมาหากินหาเงินเลี้ยงชีพในแบบของตัวเองบ้าง โดยไม่ต้องพึ่งพาพ่อแม่ อยากจะมีความภาคภูมิใจเหมือนชีวิตคนอื่นบ้างที่อายุจะปาเข้าไป 40 แล้ว ยังไม่มีอะไรเป็นแก่นสารของตัวเองสักนิด คิดจะทำอะไรเล็ก ๆ เป็นของตัวเอง แต่ความคิดกับความจริงมักเดินสวนทางกันตลอด
พ่อสอนเสมอว่า การทำธุรกิจจะต้องต้มไข่หลาย ๆ ฟองในหม้อใบเดียว พ่อเปรียบเปรยให้ฟังถึงเมื่อเราลงทุนลงแรงแล้ว จะทำเล็ก ๆ ไปทำไมในเมื่อไม่ว่าทำเล็กหรือทำใหญ่ เราก็ต้องทำเหมือนกัน แต่มันยากเหมือนกันนะสำหรับคนตัวเล็ก ๆ อย่างเราที่อยู่ดี ๆ จะให้ทำอะไรใหญ่ ๆ เลย  
ทั้งหลายทั้งมวลรู้อยู่เหมือนกันว่า แค่อาศัยความกล้าที่จะเปิดประตูออกไปข้างนอก
เพียงแค่หมุนลูกบิดประตูแล้วเดินออกไป


วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

คนคิดขบถ


เพื่อนนกน้อยในไร่ส้ม

มีเพื่อนคนหนึ่งเคยบอกว่า พวกเราชาวนิเทศ (เปรียบตัวเองเป็นนกน้อยในไร่ส้ม) เหมือน นกเป็ดน้ำคือว่าถามอะไร รู้หมดทุกอย่าง แต่การปฏิบัติได้ดีหรือไม่เป็นคนละเรื่องเดียวกัน หรือพูดกันง่าย ๆ ก็คือ รู้ไปหมดทุกอย่าง แต่ทำไม่ได้ดีสักอย่าง
เขาว่ากันว่า ศาสตร์ของนิเทศศาสตร์เป็นแหล่งรวมของ 3 ศาสตร์ คือ อักษรศาสตร์นิด ๆ ศิลปกรรมศาสตร์หน่อย ๆ แล้วผสมศาสตร์ว่าด้วยเรื่องสื่อสารมวลชนอยู่บ้าง
อย่าเพิ่งสงสัยว่าทำไมอาทิตย์นี้เขียนเรื่องเกี่ยวกับนิเทศ เพราะมันมีเหตุที่มาที่ไปตรงที่ว่าเมื่อวานได้นัดเจอเพื่อนพ้องชาวนิเทศ เป็นปาร์ตี้กลุ่มเล็ก ๆ ขนาดพอประมาณ แต่เพื่อน ๆ เตือนให้เรานึกถึงภาพวันเก่า ๆ เหมือนคนเอาสมุดบันทึกมานั่งเปิดอยู่ตรงหน้า
หลังจากจบมหาวิทยาลัยกันมากันเกือบ 20 ปี เคยมานั่งสงสัยว่าทำไมเพื่อนเรา รวมแม้กระทั่งตัวเอง ถึงทำงานน้อยกว่าความสามารถที่ตัวเรามีอยู่ ถ้าเป็นฝรั่งเขาเรียกว่า working under capacity มาถึงตรงนี้ทำให้ไม่แน่ใจว่า
จริง ๆ แล้ว เรามีความสามารถกันจริงหรือ
หรือเป็นโรคขี้เกียจส่วนตัว
หรือเป็นคนที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับระบบองค์กรและเพื่อนร่วมงานได้
หรือเป็นพวกมีไอคิว แต่ไม่มีอีคิว
หรือเป็นพวกมั่นใจเกินเหตุ
หรือเป็นบ้าอะไร
จะว่าไปเหมารวมชาวนิเทศก็คงไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะก็เห็นรุ่นอื่นประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงกันไปไม่น้อย เอาให้เน้น ๆ ไปเลยดีกว่า ชี้เฉพาะเจาะจงไปเลยว่ามันเป็นเฉพาะกลุ่มนี้ก็แล้วกัน
ที่คิดได้อยู่อย่าง แต่อาจจะเป็นการคิดที่เข้าข้างตัวเองมากไปหน่อย ตรงที่ว่าเราเป็นพวกคิด ขบถชอบคิดอะไรที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขา คนอื่นว่าซ้าย ไอ้นี่ต้องว่าขวา คนอื่นเขาว่างานมาให้รีบทำ ไอ้นี่ตอบกลับว่างานมาช่างมัน เลือกอันที่ชอบทำไว้ก่อน ได้เงินหรือไม่ได้เอาไว้คิดทีหลัง คนอื่นว่าต้องวิ่งบนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ไอ้นี่ต้องว่าขอขับอยู่บนถนนราดยางดีกว่า
วิธีการคิดหลายอย่าง เชื่อว่าคนปกติคงไม่เข้าใจ
ที่เขียนแบบนี้ไม่ใช่จะบอกว่าพวกเราเจ๋ง พวกเราเก่ง
ความรู้สึกจริง ๆ กลับตรงข้ามต่างหาก เพราะหลายครั้งที่เราเองแอบมานั่งคิดถึงชีวิตของเพื่อน ๆ พวกนี้ ทำให้นึกสงสารทั้งตัวเองและทั้งเพื่อนว่า ถ้าลดความเป็นตัวเองลงมาหน่อย พวกเราคงจะไปได้ไกลกว่านี้ และประเทศชาติคงจะเจริญก้าวหน้ามากกว่านี้ ถ้าเรารู้จักทำงานกันตามระบบฟันเฟืองที่มันควรจะหมุนไปในแบบที่มันควรจะเป็น
คิดแปลกแยก คิดต่าง ไม่เข้ากับระบบ บางครั้งรู้สึกว่าตัวเองเหนื่อย ที่จะอธิบายให้ใครต่อใครฟังว่า เราทำอะไรอยู่ กระบวนความคิดในสมองเป็นอย่างไร ทำไมถึงไม่เป็นแบบนี้ ทำไมถึงไม่เดินไปแบบนั้น
เท่าที่ตอบได้แบบทื่อ ๆ ก็คือ ทำแล้วมันไม่มีความสุขไม่อยากทำ
หนัก ๆ เข้า ไม่อธิบายดีกว่า ปล่อยให้มันเป็นคำถามลอยผ่านลมไป
ต้องขอบคุณเวลาที่หมุนวันคืนดี ๆ กลับมาให้เราได้เจอเพื่อนอีกครั้ง อย่างน้อยการพบกันครั้งนี้ก็ทำให้รู้สึกว่า อย่างน้อยก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งเข้าใจว่า เรากำลังคิดอะไรหรือกำลังจะพยายามสื่อสารอะไรกับคนข้างนอก และที่สำคัญทำให้เรารู้สึกว่า เรายังมีพื้นที่เล็ก ๆ ให้เรายืนอยู่ต่อไปได้แบบหันไปก็เจอเพื่อนที่พูดภาษาเดียวกัน ขอบคุณ ๆ

วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

ความสุขกับร้านคุ้กกี้

ร้านคุ้กกี้ที่ Westwood Village

เพิ่งได้มีโอกาสอ่าน “อาจารย์ในร้านคุ้กกี้” ของนิ้วกลมเสร็จเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว หนังสือมีความยาว 317 หน้า ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 เดือนกว่า ๆ อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า ทำไมเราใช้เวลาในการอ่านนานเกินไปรึเปล่า หนังสือบางเล่มก็สนุกเกินกว่าที่อยากจะให้จบเพียงชั่วข้ามคืน

ความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกครั้งที่สองในรอบหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา จำได้ว่าครั้งแรกที่มีความรู้สึกแบบนี้ ก็ตอนที่ได้อ่านเรื่อง “ความสุขของกะทิ” ตอนจับหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาอ่าน คิดแค่ว่าอยากอ่านไปเรื่อย ๆ จำได้ว่าเป็นช่วงตอนไปเที่ยวทะเล

หนังสือดี ๆ สักเล่ม กับกระท่อมริมทะเลร้างผู้คน พร้อมกับลมพัดเข้ามากระทบใบหน้า อ่านไปพร้อมกับนั่งมองคลื่นม้วนตัวเข้าหาฝั่งตามจังหวะของมัน เป็นความสุขสงบในจิตใจของตัวเองที่ค่อนข้างหาได้ยากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

มาเจอกับหนังสือของนิ้วกลม ทำให้ความรู้สึกดี ๆ เก่า ๆ แบบนั้นเข้ามาเยี่ยมเยือนอีกครั้งหนึ่ง มันทำให้บางค่ำคืนที่จิตใจไม่ปกติ ตัวหนังสือบางตัว ข้อความระหว่างบรรทัดได้ช่วยให้ดึงตัวเองกลับเข้ามามองสิ่งที่เรามองข้ามไป กับบางอย่างที่เราอาจจะตั้งใจที่จะมองไม่เห็น ไม่ได้สนใจหรือไม่ได้สังเกต

ความสุขเป็นแบบนี้ เราต้องเลือกที่จะมองและเลือกที่จะหา

บทสุดท้ายในหนังสือ เขียนเกี่ยวกับคนที่มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองทำ เป็นคนที่หาตัวเองเจอว่า ตัวเองเป็นคนชอบทำคุ้กกี้ รู้สึกมีความสุขที่เห็นลูกค้าเดินเข้ามา และมีความสุขกับการได้กินคุ้กกี้ที่อร่อย อ่านมาถึงบทสุดท้าย ทำให้เรานึกถึงร้านคุ้กกี้ที่อยู่ถัดไปจากร้านอาหารของตัวเอง

ใน Westwood Village เพียงแค่ช่วงถนนหนึ่งบล็อดจาก UCLA campus ไม่มีใครไม่รู้จักร้านคุ้กกี้ร้านนี้ Diddy Riese ซึ่งเปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 ปี มีการสืบสานต่อกิจการจากรุ่นปู่ รุ่นพ่อ และตอนนี้ตกมาถึงรุ่นลูก ทำอยู่อย่างเดียวคือคุ้กกี้ประกบกับไอศครีม ขายถูก ขายดี คนในละแวกนี้ไม่มีใครไม่เคยชิม

คนจะเริ่มต่อแถวยาวเป็นบล็อค ๆ โดยเฉพาะในช่วงคืนวันศุกร์และเสาร์ แม้อากาศจะหนาว ฝนจะตก ลมจะแรง ร้านคุ้กกี้ร้านนี้ไม่เคยร้างลาผู้คนที่แวะเวียนกันเข้ามา

มาวิเคราะห์เอาเองว่า อะไรทำให้ร้านคุ้กกี้ร้านนี้ประสบความสำเร็จ ถ้าจะคิดถึงรสชาติของความอร่อย เราก็ว่ามันก็แสนจะธรรมดา แต่เรื่องการให้ความสุขของคนในเรื่องบรรยากาศ ร้านนี้ได้คะแนนเต็ม 10

เป็นอันรู้กันว่า ใครจีบกัน ใครออกเดท ต้องมาที่ร้านนี้ ด้วยความที่ต้องเข้าแถวรอนาน เพราะฉะนั้นจะเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ยืนคุยกัน หนาวมาก ๆ เข้าก็กอดกัน อะไรจะอบอุ่นไปกว่าการได้กอดกันในวันที่อากาศหนาวที่นี่ (ว่าแล้วก็รีบเอามือขึ้นมากอดตัวเองในทันใด)

เวลาเดินผ่านหน้าร้านคุ้กกี้ทีไร รู้สึกไปเองว่ามีความสุขวนอยู่รายรอบ มันมีพลังงานที่ดีออกมาให้คนเดินผ่านอย่างเราสัมผัสได้

ไม่ว่าจะเป็นร้านคุ้กกี้ในหนังสือของนิ้วกลม หรือร้านคุ้กกี้ใกล้ ๆ ร้านเรา แม้จะให้ความสุขในคนละอย่าง ในแง่ของรสชาติหรือบรรยากาศ สิ่งที่เหมือนกันก็คือ การหยิบยื่นความสุขให้กับลูกค้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

อะไร ๆ ที่ให้ความสุขกับคนธรรมดาอย่างเรา อะไร ๆ ก็ดีทั้งนั้น

(เป็นบทความตีพิมพ์ในคอลัมน์ต่างองศา วันที่ 27 เมษายน 2553)

วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

สีเสื้อกับการทำสลัด

<เครดิตรูปจาก jazzysdeli.com>

อาทิตย์กว่า ๆ ที่ผ่านมา จนกระทั่งมาถึงวันที่เรากำลังนั่งลงปั่นงานต้นฉบับอยู่นี้ อุณหภูมิการเมืองบ้านเราถ้าเป็นปรอท คงจะขึ้นสูงปรี๊ดจนเกือบจะแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ใช้คำว่า “เกือบ” เพราะยังมองเห็นแสงริบหรี่ที่ปลายอุโมงค์ สำหรับทางออกประเทศไทย

เราเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ครั้งนี้?

เราว่าเราเรียนรู้เยอะเลยนะ สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน สีชมพู สีเขียว สีขาว สีดำ มากันเกือบทุกสีแล้ว

ทำไมสีเหล่านี้ถึงรวมตัวกันไม่ได้

เรียนรู้เหตุการณ์ครั้งนี้ จากการเริ่มต้นทำสลัดให้ลูกค้ากินที่ร้าน ถ้าเราออกไปชอปปิ้งที่ซุปเปอร์มาเก็ตที่แอลเอ จะมีสลัดวางขายอยู่ประเภทหนึ่ง เรียกว่า “Spring Mix” คือมันผสมผักทุกอย่างเข้าด้วยกัน มองไปที่ชั้นวางของ ก็จะมีน้ำสลัดวางเต็มไปหมด มันก็มีหลายยี่ห้อ เป็นร้อย ๆ อย่าง แบบข้นแบบใส เครื่องปรุงหลากหลายชนิด โลว์คลอเลสตอรอล ออร์แกนิค และ ฯ ล ฯ

Spring Mix ที่นี่ได้รับความนิยมมาก เพราะรวมของทุกอย่างเข้าด้วยกัน มีความหลากหลายในรสชาติ ยิ่งสามารถเลือกน้ำสลัดเองได้ด้วย เหมือนกับได้กินผักทุกอย่างแบบ all in one

ถ้าเปรียบประเทศไทยเหมือนจานสลัด

และคนไทยเหมือนผักสลัด

สีเสื้อที่ทุกคนสวมใส่อยู่ตอนนี้เหมือนน้ำสลัด

ถ้าจะปรุงจานโปรดให้อร่อย มันต้องมิทซ์ต้องแมทช์รวมกัน รสชาติมันถึงจะกลมกล่อม

วันนี้หลายฝักหลายฝ่าย อยากจะแยกออกไปทำสลัดเอง ปรุงน้ำสลัดตามใจชอบ มันจะสมบูรณ์หรือเปล่ายังสงสัย มันคงไม่อร่อย อาจจะไม่ถูกปาก และสลัดคงไม่ใช่สลัดถ้ามีผักอย่างเดียวอยู่ในจาน

ทุกวันนี้สังคมไทยขาด dialogue ที่ดี ไม่เปิดใจให้กว้าง อย่าลืมว่าเราเป็นประเทศประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นทุกคนสามารถมีความเห็นต่างได้ แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรง ควรจะอยู่ในกฎในเกณฑ์ตามกติกามารยาท

ถึงเวลาแล้วหล่ะ สำหรับการหันหน้าเข้าหากัน คุยกันดี ๆ ว่าวันนี้เราอยากกินสลัดแบบไหน จะใส่ผักอะไรบ้าง เอามะเขือเทศ เอาแครอท เอาหัวหอมไหม หรือว่าใส่งาดำงาขาวให้มันมีรสชาติปะแล่ม ๆ ใครจะเป็นคนไปซื้อวัตถุดิบ ใครจะเป็นคนปรุง จะเอาน้ำสลัดแบบไหน

ว่าแล้วเราก็เริ่มมาล้อมวงนั่งกินด้วยกัน

(เป็นบทความตีพิมพ์ในคอลัมน์ต่างองศา วันที่ 13 เมษายน 2553)

ให้ภาพเล่าเรื่อง

นั่งเรือข้ามฝาก


ตึกรามบ้านช่อง


บนถนนคนเดิน


แอบมองท้องฟ้า


สวัสดี อัมพวา


ขายของ ๆ ๆ


มีของอร่อยมาขายจ้า


ของเล่นก็มีนะ


ที่นี่ดนตรีเพราะ


ดื่มแล้วม๊าว ว ว


แช๊ะภาพก่อนกลับบ้าน

เดินตามอัมพวา


เรือพายขายของที่ตลาดน้ำอัมพวา

เขาว่ากันว่า คนชอบของเก่า ชอบสถานที่เก่า ชอบพูดเรื่องเก่า

ขอคอนเฟิร์มว่าเป็นคนแก่…

หรือพูดให้ไม่กระทบกระเทือนใจกันมากนัก เอาคร่าว ๆ ว่าถือเป็นช่วงพ้นวัยรุ่นมาสักพักใหญ่…

เมื่ออาทิตย์ก่อน ได้กลับไปเที่ยวอัมพวาอีกครั้ง และแน่นอนไปกับเพื่อนเก่า (แม้จะไม่ใช่เพื่อนกรุ๊ปเดิมที่เคยไปเที่ยวด้วยกันเมื่อ 8 เดือนก่อน) คราวนี้เป็นเพื่อนรุ่นเก่าลายครามกว่านั้น เพราะเป็นเพื่อนที่วิ่งเล่นกันมาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย

ขอย้ำ (…) เท่าฝาหอยจริง ๆ

อัมพวาเป็นสถานที่เก่า แต่ไม่เคยหมดเสน่ห์ในตัวเอง ถ้าเปรียบอัมพวาเหมือนผู้หญิง คงจะเป็นผู้หญิงที่สวยสมวัย แม้ว่าจะมีความเก่า แต่ความเก่านี้มาพร้อมกับเสน่ห์ที่น่าค้นหา จะว่าสมัยใหม่ทีเดียวก็ไม่เชิง เรียกว่าไม่กระเปิ๊บกระป๊าบมากกว่า

ศัพท์วัยรุ่นเขาเรียกว่า “นัว” คือได้ทุกรูปแบบทุกสถานการณ์ จะสวยแบบเรียบร้อย แบบหวาน แบบเอามันส์ก็ได้ทั้งนั้นสำหรับอัมพวา

ที่ชอบมากที่สุดของทริปนี้ เห็นจะเป็นร้านอาหารชื่อทองโบราณ ซึ่งเป็นร้านอาหารตั้งอยู่กลางตลาด ความพิเศษของร้านนี้ไม่ใช่อยู่ที่อาหาร แต่อยู่ที่วงดนตรีที่มาเล่นและเพลงที่ร้องให้เราฟังมากกว่า เพลงที่เอามาร้อง เครื่องดนตรีที่นำมาเล่น เหมือนพาเราได้ย้อนกลับไปสู่อดีตไล่มาตั้งแต่คุณชนินทร์ นันทนาคร, คุณสุเทพ วงศ์กำแหง เรื่อยมาถึงยุคพิงค์แพนเตอร์, วงอิสซึ่น, ชาตรี นอกจากนั้นยังมีเพลงฝรั่งเก่า ๆ อย่าง Wonderful Tonight, Leaving on a Jet Plane, Hotel California และ ฯ ล ฯ

คนที่ชอบเพลงเก่า รับรองว่าไม่ผิดหวัง!

นอกจากเพลงเก่ากับบรรยากาศเก่า ๆ ตลอดทางเดินในตลาดอัมพวาแล้ว ที่ชอบอีกอย่างของที่นี่ก็คือ ของเก่า ๆ ที่เราเคยเห็นตั้งแต่สมัยเด็ก อย่างเช่นเครื่องกดขนมรูปไข่ที่ต้องใช้เหรียญบาทหยอด ซึ่งตอนเด็ก ๆ นั้นเป็นของเล่นโปรดที่ต้องแวะหยอดทุกครั้งตรงปากซอยทางเข้าโรงเรียน

วันไหนเพลินไปหน่อย ก็อาจจะต้องเหนื่อยหน่อยกว่าจะได้เข้าไปนั่งในชั้นเรียน เพราะเข้าไปเคารพธงชาติไม่ทัน ต้องโดนวิ่งรอบสนามอย่างน้อย 3 รอบ แฮ่ ๆ ๆ

แอบถามคนขายว่าเจ้าเครื่องที่ว่านี่เครื่องละเท่าไร เพราะมีความคิดอยากจะเอาไปตั้งที่บ้าน (ถ้าสักวันมีบ้านเป็นของตัวเอง) ได้ยินราคาแล้วแทบตกเก้าอี้ เพราะเครื่องเล่นที่ว่าราคาตอนนี้อยู่ที่หลายพันบาท กลายเป็นของเก่าหายาก และคงจะกลายเป็นของเล่นสะสมของคนมีเงินไปแล้วมั้ง

ได้ยินราคาก็เลยได้แต่ปลอบตัวเองว่า ถ้าคิดถึงไอ้เครื่องนี่เมื่อไร ค่อยขับรถกลับมาเล่นที่อัมพวานี่แล้วกัน

ตลาดอัมพวาเป็นตลาดน้ำที่ขายเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะฉะนั้นนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติจะแน่นขนัดและเบียดเสียดจนบางครั้งเราแทบจะไม่ต้องเดิน เพราะฝูงชนจะผลักเราให้เดินข้างหน้าไปเอง

จริง ๆ เราไปกันตั้งแต่วันศุกร์ เพราะฉะนั้นเราเองจะเห็นตอนช่วงที่ตลาดเงียบ ๆ เหงา ๆ คนพายเรือขายของกันเอื่อย ๆ ไม่รีบไม่เร่ง จะว่าไปก็เป็นบรรยากาศที่ดีไปอีกแบบ ทำให้รู้สึกเหมือนกลับไปนั่งอยู่ที่ริมคลองเล็ก ๆ แถวบ้านคลองสานยังไงยังงั้น

แต่พอเริ่มมีนักท่องเที่ยวทยอยกันเข้ามาตลาดตลอดวันเสาร์อาทิตย์ แว่บแรกก็รู้สึกอยากจะหวงแหนสถานที่แบบนี้ไว้คนเดียว ไม่อยากให้การท่องเที่ยวเข้ามาทำลายบรรยากาศที่เรารัก แต่พอเวลาผ่านไป ทำให้เข้าใจว่ามันก็เหมือนเหรียญสองด้าน ขาวกับดำ ซ้ายกับขวา ข้อดีข้อเสีย แค่สองวันคงไม่ได้ทำลายอะไรมาก เพราะเราเหลือกันอีกตั้งห้าวันที่เราสามารถฟื้นฟูสถานที่ได้ทัน

เอาเป็นว่า ขอให้เรามีจิตสำนักรักตลาดอัมพวาเป็นใช้ได้! และขอให้อัมพวา “นัว ๆ” แบบนี้ต่อไปแบบนี้นาน ๆ แล้วกัน