วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Basketball and me



แป้นบาสที่โรงเรียน (ถ่ายโดยน้องก้อย เพื่อนรุ่นน้อง)


คนมีเบสิคดี เขาว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง!

เพิ่งมารู้ว่าการมีบาสเกตบอลเป็นเพื่อนซี้มาตั้งแต่เด็กมันดีอย่างนี้เอง หลายอย่างหลายครั้งทักษะทางด้านกีฬา มีส่วนอย่างมากในการตัดสินใจในหลาย ๆ ช่วงของชีวิตต่อมา บางทีเราเองหยิบมันมาใช้แบบไม่รู้ตัว เรียกว่าเป็นไปแบบอัตโนมัติมั้ง

อ้าว! อะไร อย่างไร อย่าเพิ่งงง…

เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง…

ว่าแล้วเข้ามานั่งล้อมวงกัน…

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า อาทิตย์ที่แล้วได้มีโอกาสกลับไปโรงเรียนเก่า เพื่อไปร่วมประชุมงานคืนสู่เหย้าตอนปลายปี ไฮไลท์ไม่ได้อยู่ที่การประชุม แต่อยู่หลังจากนั้นตอนที่เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ กลับมารวมทีมเล่นบาสกัน บนสนามเดิม ๆ แป้นเดิม ๆ บรรยากาศเดิม ๆ

ไม่อยากจะเชื่อ ว่าเราจะกลับมายืนอยู่ที่เดิม เมื่อเวลาผ่านไปมากว่า 20 ปี…

ความรู้สึกมันบอกไม่ถูก มันอิ่มเอมใจ สุขอยู่ข้างใน อธิบายออกมาเป็นตัวหนังสือไม่ค่อยถูก หรือถ้าจะเล่าให้ละเอียดก็คงอาจจะไม่ถึงครึ่งหนึ่งของความรู้สึกสุขใจที่เกิดขึ้น

การได้กลับไปจับลูกบาสเดิม ๆ ร่วมก๊วนทีมเดิม เออ! เหมือนฝันนะ…

แล้วเมื่อจับลูกบาส ก็ทำให้ได้รู้ว่าอะไรที่เรารู้จริง พื้นฐานในการเล่นที่ได้รับการฝึกมาตั้งแต่เด็ก ทำให้รู้ซึ้งถึงคำว่าเบสิค คงเหมือนกับการทำอะไรทุกอย่าง ถ้าพื้นฐานเราแน่นจริง รู้จริง ฝึกฝนจริงจัง ต่อให้กี่ปีที่เราไม่ได้แตะต้องมันเลย เหมือนเราจับลูกบาส ต่อให้จับแล้วเล่นมันอีกกี่ครั้ง ก็ไม่มีทางลืม

การเลย์อัพ…

การสะบัดข้อมือเวลายิงลูกไกล…

การจ่ายลูกไปให้เพื่อน…

การรู้จักวิ่งหาที่ว่าง เพื่อทำโอกาสให้ตัวเองได้ชู้ต…

ที่สำคัญ การเล่นเป็นทีมเวิร์ค…

เหมือนคนว่ายน้ำมั้ง ต่อให้ไม่ได้ว่ายมาเป็น 10 ปี ตกน้ำเมื่อไหร่ก็สามารถว่ายได้ทันที…

เหมือนทักษะของการทำข่าวมั้ง ต่อให้ไม่ได้เขียนมานาน ขอแค่เวลาปัดฝุ่นนิดหน่อย เดี๋ยวมันก็มาเองว่าจะต้องเขียนอะไร อย่างไร ก็ไอ้ Who, What, When, Where and Why เท่านั้นเอง…

หลายปีต่อมา เมื่อมองย้อนกลับไปในแต่ละช่วงของชีวิต ต้องขอบคุณทักษะทางด้านกีฬา ที่ช่วยให้เราเดินตรงทาง เมื่อถึงวันที่ต้องตัดสินใจ รู้ว่าเวลาไหนต้องเดิน ต้องวิ่ง ต้องรุก ต้องรับ ต้องรับฟังความคิดเห็นคนอื่น ต้องรู้จักแพ้และอดทนกับความเหนื่อย

รู้จักชื่นชมดีใจกับชัยชนะ…

และในทางกลับกัน รู้จักยอมรับกับการพ่ายแพ้…

นอกจากเบสิคที่ได้ บาสเกตบอลยังสอนให้เรารู้จักแพ้ รู้จักชนะ ที่สำคัญรู้จักให้อภัย…

ขอบคุณเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ สำหรับการได้กลับไปเล่นกีฬากันอีกครั้ง!

วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ฟ้ายังฟ้าอยู่

ใช้กล้องจากโทรศัพท์มือถือ blackberry แช๊ะไว้ก่อนเข้าร้าน
เวลาประมาณ 6 โมงเย็น อากาศกำลังสบาย ไม่ร้อน ไม่หนาว
มีลมอ่อน ๆ พัดมาปะทะใบหน้า สูดลมหายใจเข้าเต็มปอด
พร้อมเริ่มต้นทำงาน!
ป.ล. คงเป็นท้องฟ้าที่สีฟ้ามาก ๆ ทำให้เราอารมณ์ดีมั้ง

สะพานพุทธ

แสงไฟบนสะพานพุทธ

วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บ้าน 936 Broxton

936 Broxton ave


Mr. Noodle


Na Noi: life-long cashier, the main engine


P.Dul: my right hand

Na Ruam: all-time chef

P.Noi: Na Ruam's sister, just come to join the team 4 years ago

Nino (left), Abun (middle), Mundo (right): all Mexicans

Barn: also Mexican, a good chef

Mui and Pat: the front line

Bat: a talkative server

Bam: long-time server

Pui: cover the drink bar

Uncle Nut: an old but super fast driver

Many more I haven't mentioned!!!!!

WELCOME TO MY MR. NOODLE

คุณค่าในตัวเอง

ตัวอย่างหนังสือก่อนพิมพ์
ช่วงปลายปีที่แล้ว วันที่โรงพิมพ์มาส่งหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คของตัวเองที่หน้าบ้าน วันที่หนังสือค่อยๆถูกทยอยขนลงมากองโตอยู่ที่หน้าห้องเก็บของ ตัวเองนั่งลงที่พื้น ค่อยๆเปิดหนังสือออกดูทีละเล่ม ๆ นั่งลูบ ๆคลำ ๆ เหมือนหนังสือเล่มที่อยู่ในมือนี้เป็นของมีค่าสำหรับตัวเองเหลือเกิน

ถ้าจะให้อธิบายความรู้สึกออกมาคงไม่ง่ายอย่างที่ใจอยากจะพูดทั้งหมด แต่ถ้าเปรียบแล้วได้เห็นภาพ ก็น่าจะเป็นความรู้สึกตอนตัวเองได้ชู้ตบาส 3 แต้มในวินาทีสุดท้ายของแมทช์ชี้เป็นชี้ตาย และพลิกกลับมาชนะอย่างเหนือความคาดหมาย

ต่างกันตรงที่ว่าชัยชนะครั้งนี้ไม่มีเพื่อนร่วมทีม ไม่มีกองเชียร์มาห้อมล้อมเหมือนเคย…

ต่างกันตรงที่ว่าครั้งนี้ไม่มีนกหวีดให้สัญญาณหมดเวลา…

ต่างกันที่ว่าลูกบาสที่ลอยจากมือไปเข้าห่วงครั้งนี้ มันไม่ได้ลงตาข่ายธรรมดาๆ…

แต่ความรู้สึกที่ไม่ต่างกันก็คือ…

เกมส์นี้เราชนะ เราสอบผ่าน!!!

มีหลายคนถามว่า “เขียนหนังสือยากไหม?”

จริง ๆ เขียนหนังสือไม่ยาก เพราะเราก็เขียนกันทุกวันอยู่แล้ว “ทำ”หนังสือก็ไม่ยากถ้าเรามีเงินทุน แต่จะขายออกมั้ยนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฮา ๆ ๆ ๆ ซึ่งจริง ๆ ตอนนี้ก็ยังไม่รู้หมู่หรือจ่า เพราะยังไม่ได้เช็คยอดหนังสือกับทางผู้จัดจำหน่ายเลย

แต่มานั่งมองคุณค่าของการทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ในแง่ของคนทำนะ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า (หลังจากที่ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าแบบนี้มานานมาก) ในหนึ่งชีวิต การรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าเราจะทำในสิ่งเล็ก ๆน้อย ๆ กับความพยายามที่จะทำหนังสือหนึ่งเล่มไปวางขายอยู่บนชั้นหนังสือในร้านขายหนังสือ

ไม่มีประวัติศาสตร์หน้าไหนมาจารึก…

ไม่มีใครมาให้รางวัลประกาศเกียรติคุณ…

ไม่มี และ ไม่มี…

คนเราไม่จำเป็นที่จะต้องเก่งกาจถึงขนาดจะเปลี่ยนโลกได้หรอกว่าไหม? คิดง่าย ๆ แค่นิ้วมือเรา 10 นิ้วยังไม่เท่ากันเลย จะให้ทุกคนเก่งเหมือนกันโลกคงจืดชืดสิ้นดี จะให้มีไอน์สไตน์ ขงจื้อ ดาไลลามะ บีโธเฟน เจงกิสข่านเป็นสิบ ๆ คนแล้วคราวนี้เราจะฟังหรือเชื่อใครดี แค่คิดโลกเราคงวุ่นวายเป็นบ้า!!

กลับมาเรื่องการให้คุณค่าในตัวเองดีกว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา ๆ ทุกคน เชื่อว่าทุกคนคงมีความฝัน อยากจะทำอะไร วางเป้าหมายของชีวิตไว้ตรงไหน แต่บางคนไม่กล้าฝันไปไกล คิดแค่ว่าทำไม่ได้หรอก ไม่มีทางหรอก ให้เกิดใหม่ง่ายกว่าไหม…

ลองดูตัวอย่างคนบ้าคนหนึ่งนะ อยู่ในโลกแคบ ๆ เหมือนกบอยู่ในกะลา ชีวิตประจำวันคือบ้านและที่ทำงาน มีครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ มีเพื่อนกลุ่มเล็ก ๆ (ซึ่งเจอกันผ่านโลกไซเบอร์เสียส่วนใหญ่) มีงานเขียนคอลัมน์ที่จะต้องส่งทุกอาทิคย์

ชีวิตที่รับผิดชอบมีอยู่แค่นี้!!

อยู่มาวันหนึ่งคนบ้าคนนี้บอกกับเพื่อนว่า อยากเอาเรื่องที่ตัวเองขีด ๆ เขียน ๆ มาทำพ็อกเก็ตบุ้คของตัวเองสักเล่ม ว่าไม่ว่าเปล่า และด้วยความบ้าส่วนตัว เริ่มลงมือเขียน เขียนไปทุกวัน เขียนบ้าเขียนบอ ไม่กลัวไม่อาย เขียนไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งหนังสือเล่มที่ว่าก็มาวางอยู่ตรงนี้

มองย้อนกลับไป…

เออ ตัวเราก็เดินมาไกลใช้ได้…

ที่เขียนมาแชร์วันนี้ ไม่ใช่ว่าหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จริง ๆ อาจจะตรงกันข้ามก็ได้ ฝุ่นอาจจะจับหนังสือบนหิ้งซะหนาเพราะไม่มีใครสนใจมันเสียด้วยซ้ำ แต่อยากให้มองเรื่องความมีคุณค่าในตัวเอง

แม้มันจะไม่สำเร็จ (ในแง่ของยอดขาย)…

แต่มันมีคุณค่า (ในแง่ของจิตใจ)…

แค่อยากจะให้คนบ้าคนนี้เหมือนก้อนหินก้อนหนึ่ง ที่เวลาเขวี้ยงลงไปบนผิวน้ำ มันได้เขี่ยกระจายความฝันของใครหลายคนที่แอบซ่อนอยู่ แล้ววันหนึ่งเราจะได้มาร่วมแชร์กันอีกครั้งสำหรับความมีคุณค่าของคนตัวเล็ก ๆ อย่างเรา ๆกัน

(เป็นบทความตีพิมพ์ในคอลัมน์ต่างองศา วันที่ 30 มีนาคม 2553)

ตึกเก่า

ตึกเก่า
ของเก่า ตึกเก่า อะไรเก่า ๆ บางทีมักชอบถูกมองข้าม แต่บางคนอาจจะมองว่าเป็นเสน่ห์ที่หาดูได้ยาก ความชอบของแต่ละคนจึงยากที่จะเอาอะไรมาวัดว่าแบบไหน อย่างไร อะไรถึงดีกว่ากัน

วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เรื่องของแม่กับลูก

กับแม่ ผู้หญิงที่สวยที่สุดในความรู้สึก

วันนี้วันที่ 12 สิงหาคม ถือเป็นวันแม่แห่งชาติ…


เปิดเข้าไปในเฟสบุ๊ค เลยมีแต่คนเขียนบอกรักแม่กันใหญ่ เขียนความในใจถึงแม่ เอารูปเก่า ๆ ของตัวเองกับแม่มาลง จริง ๆ แล้วเรารักแม่กันทุกวันแหละ เพียงแต่ถือว่าวันนี้เป็นโอกาสพิเศษที่จะคอนเฟิร์มหรือประกาศให้โลกรู้ว่า “เรารักแม่”

แม่ในความรู้สึกของเรา มันเป็นอะไรที่ปะปนกันไปหมด บางทีไม่รู้จะวางแม่ไว้ตรงไหนดี เพราะแม่อยู่ทั่วทุกที่ไปหมด

เหมือนมีพระอยู่ในบ้าน…

เหมือนมีธนาคารที่เบิกเท่าไหร่ก็ได้ไม่มีวันหมด…

เหมือนเพื่อนตายไปไหนไปกัน…

เหมือนนักปรึกษาที่ดี…

เหมือนคนรักที่ไม่เคยพรากจากกัน…

ฯ ล ฯ

แต่บ่อยครั้งความสัมพันธ์ที่เป็นทุกอย่างในชีวิตของเรา ก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่มันควรจะเป็น เมื่อมันเริ่มมีความรัก ความผูกพัน อารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง

พูดถึงอารมณ์แล้วนึกถึงแม่ จะชอบนึกว่าแม่ของเราเป็นพวกอาร์ตติสต์ หรือถ้าเดาะภาษาวัยรุ่นจะเรียกได้ว่าเป็น “อาร์ตตัวแม่” อารมณ์แม่ขึ้นลงบ่อยและเร็ว จนบางครั้งเราแทบตามไม่ทัน ระยะหลัง ๆ เราเรื่มพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง เหมือนคนเดินช้ากับเดินเร็ว จะปรับจะจูนอย่างไรก็ไม่ลงตัวเท่าไหร่

เหมือนพูดกันคนละเรื่อง…

เมื่อหลับตาแล้วนึกถึงแม่ ตั้งแต่รู้จักกับแม่มาเกือบ 40 ปี แม่เป็นหนึ่งในคนเดินเร็ว แม่เล่าบอกว่า แม่เดินช้าไม่ได้ เพราะถ้าเดินช้า ลูกแม่อีกสามคนอยู่ข้างหลังอดตายกันพอดี วันที่อารมณ์พุ่งปรี๊ด แม่ชอบพูดว่า

“ชีวิตนี้ไม่ใช่ของแม่ แม่ต้องทำเพื่อพ่อ เพื่อลูก เพื่อครอบครัว แม่ไม่เคยได้ทำอะไรในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แต่กับลูก ลูกเลือกได้และมีโอกาสที่จะเลือก เพราะฉะนั้นอยากจะทำอะไรให้รีบทำ”

แต่ในคำพูดเหล่านั้น มันก็ยังมีเหมือนจะมีกรอบตีและบังคับให้เราเดินอยู่ดี มาวันนี้ได้มานั่งคิด แล้วอยู่ ๆ ก็คิดได้เหมือนยูเรก้า เพราะธรรมชาติของเราต่างกันนั่นเอง

ถ้าเปรียบว่าแม่เป็นคนเดินเร็ว (เร็วมาก) เราคงเป็นคนที่เดินช้า (ช้ามาก) บางอย่างที่แม่คิด เรามักจะตามไปไม่ทัน ณ บทสนทนาตรงนั้น บางทีใช้เวลาเป็นวัน กว่าจะเข้าใจในสิ่งที่แม่พยายามจะบอก บางอย่างใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี หรือหลาย ๆ ปีก็มีกว่าจะเข้าใจในสิ่งที่แม่พูด

เออ! คิดย้อนกลับไป แม่พูดอะไรไม่มีผิดเลยนี่หว่า แต่ไอ้เราเป็นประเภทบอกให้เดินซ้ายจะเดินขวา บอกให้เดินตรงจะต้องถอยหลัง บอกให้ก้าวไปข้างหน้ากลับวิ่งหนีเข้าอุโมงค์ซะอย่างนั้น

คิดแล้วสงสารแม่อยู่เหมือนกัน และคงต้องใช้ความอดทนมากอยู่กับลูกที่เดินไม่ค่อยตรงทาง…

วันนี้คิดได้แล้วว่า…

บางครั้งที่อยู่กับแม่แล้วเหนื่อย เพราะเป็นเรื่องคนเดินเร็วกับคนเดินช้า

บางทีไม่เข้าใจในสิ่งที่แม่พูด เพราะเรามันกระดูกกันคนละชั้น เหมือนกับนักมวยคนละรุ่น

บางจังหวะเหมือนแม่จะคอยขีดเส้นให้เดิน เพราะประสบการณ์และความรักความห่วงใยที่แม่มีให้

บางมุมเรามองกันคนละระนาบ เพราะดีกรีความฉลาดของเราไม่เท่ากัน

ที่เขียนถึงแม่ในวันนี้ เพราะอยากจะบอกแม่ว่า ลูกกำลังพยายามเดินให้เร็วขึ้น อย่างน้อยก็ให้เหมือนคนปกติทั่วไปก็ยังดี อย่างน้อยตอนนี้ขออีก 20 ปีที่เราจะได้มีกันไปอย่างนี้เรื่อย ๆ ถ้าถึงเวลานั้นแม่จะไปอยู่บนฟ้าอะไร ตรงไหน เราไม่ว่ากัน

แต่อย่างไรก็ยังเหมือนเดิมนะแม่ คำพูดที่เรามักจะบอกกับแม่เสมอว่า

“เกิดอีกกี่ชาติอยากจะขอเป็นลูกแม่ทุกชาติไป”

เมื่อหัวใจอยากออกเดิน

หนังสือจุดประกายทางความคิด

เมื่อบ่ายวันเสาร์ของอาทิตย์ที่ผ่านมา มีโอกาสได้เจอหนู (ไอ้หนู, อีหนู, น้องหนู หรืออะไรก็แล้วแต่) รุ่นน้องที่โรงเรียนเก่า นอกจากสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นและยาวนานมากว่า 20 ปี วันนี้ถือเป็นฤกษ์ดีที่เราได้เจอกันอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากคำทักทาย นั่งคุยกันสัพเพเหระไปตามเรื่องแล้ว หนูมาพร้อมกับรอยยิ้มและโยนหนังสือให้เล่มหนึ่ง แล้วบอกกับเราว่า

“ลองเอาไปอ่านดู เผื่อจะได้อะไรพี่”

หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า “ZigZag เมื่อแกะดำทำธุรกิจ” เขียนโดย ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์

คงมีคนจำนวนมาก เมื่อวันที่อายุขึ้นเลข 4 คงจะเบื่อกับอาชีพมือปืนรับจ้าง บางครั้งถึงกับออกอาการเซ็งอารมณ์กับการเป็นลูกจ้าง ต้องทำอะไรหรือตัดสินใจแต่ละที ต้องผ่านการเห็นชอบจากมติที่ประชุม คุณประเสริฐเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “Rule book”

ความคิดเห็นส่วนตัวนั้น เราว่ามันมีทั้งข้อดีข้อเสียทั้งสองอย่าง เพราะตัวเองก็ผ่านมาหมดแล้วทั้งการเป็นลูกจ้างและนายจ้าง แต่ดูเหมือนคราวนี้จะมีการคิดขบถ อยากจะหลุดนอกกรอบที่ครอบครัวได้วางไว้ให้บ้าง ถ้าจะเดินกลับไปเป็นลูกจ้างอีกครั้ง คิดว่าตัวเองคงไม่แล้ว ถ้าจะกลับไปทำธุรกิจของครอบครัวก็มีอาการเบื่อ ๆ อยาก ๆ

มันเป็นการ “ชักเย่อทางความคิด” มาสักพักใหญ่ว่า คนตัวเล็ก ๆ อย่างเรา ไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจ หรือถ้าจะมีก็คงแค่หางอึ่ง จะคิดการใหญ่ก็คงไม่กล้า เงินลงทุนก็ไม่ได้หนาพอ

และเราจะทำอะไรได้บ้าง?

บนโลกธุรกิจ มีพื้นที่เล็ก ๆ ให้คนตัวเล็ก ๆ อย่างเราได้ยืนพอหายใจสบาย ๆ ได้บ้างไหม?

จะว่าไปก็เป็นเรื่องของวิตกจริตเมื่อคิดจะมีการเปลี่ยนแปลง เหมือนเราเดินอยู่บนถนนแล้วมาถึงทางแยกมั้ง มันต้องตัดสินใจว่าจะซ้ายหรือขวา จะเดินหน้าหรือถอยหลัง

ได้อ่านหนังสือที่เพื่อนรุ่นน้องให้มา มันก็เป็นการจุดประกายความคิดที่ดีเหมือนกันนะ เรื่องของการเริ่มต้นเป็นเถ้าแก่ใหม่ คงมีหลายคนมีคำถามที่ถามตัวเองบางครั้งว่า เราพร้อมที่จะเป็นเจ้าของกิจการหรือยัง? เรียกง่าย ๆ ว่า เราพร้อมที่จะเป็นเถ้าแก่ใหม่หรือยัง?

อ่านแล้วก็ได้คำตอบว่า คงไม่มีใครบอกได้ว่า เราพร้อมที่จะมีธุรกิจเป็นของตัวเองหรือเปล่า? เพราะเรื่องนี้คงเป็นเรื่องตอบยาก แต่จะให้ตอบแบบกลาง ๆ ก็คือว่าทุกคนมีโอกาสเป็นกันได้ทั้งนั้น เพียงแต่เราจะกล้าที่จะก้าว และกล้าที่จะเสี่ยงหรือเปล่าก็เท่านั้นเอง

เรื่องที่จะทำธุรกิจอะไรก็เป็นเรื่องปวดหัวอีกเรื่องหนึ่ง…

ส่วนตัวเชื่อว่า คนเราจะทำอะไรได้ดีที่สุด เมื่อเรารักและมีความสุขที่จะทำ ฝรั่งเขาเรียกว่าต้องมี passion ในการทำงาน คือต้องมีความหลงใหลอยากจะทำ เมื่อนั้นสิ่งที่ทำจะทำออกมาได้ดี การที่เราทำอะไรด้วยใจโดยไม่ถูกบังคับ เชื่อว่าผลของงานร้อยทั้งร้อยจะออกมาดีเสมอ

แต่ไอ้สิ่งที่เรารักที่จะทำ มันไม่ได้สร้างรายได้กับเรานี่ซิ…

คิดหนัก…

จะออกเดิน หัวใจก็ยังไม่เต็มร้อย จะไม่เดิน ก็ค้างคาใจอยู่นั่นแล้ว บอกตัวเองไปก่อนว่า รอเวลาให้มันตกผลึกทางความคิด เมื่อตัวเรานิ่ง ความคิดนิ่ง แล้วเราคงจะรู้เองว่าจะเดินไปทางไหน

ที่สำคัญต้องเดินตามหัวใจตัวเอง…

ปล. เขียนในวันที่มีความสับสนทางด้านความคิด ใครมีความคิดอะไรดี ๆ น่าจะดีถ้าได้มาแชร์กัน อ้อ! อีกอย่างตอนนี้ www.jirastoryteller.com ได้ฤกษ์ย้ายบ้านใหม่ ไปอยู่ที่ http://jirastoryteller.blogspot.com ติดตามกันได้ราวกับ 7-eleven! ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เด็กไทยกับลูกอีแร้ง

ดร. วรภัทร์ ภู่เจริญ

เคยคิดเล่นๆแบบตลกร้ายว่า นี่เราโดนหลอกให้เข้ามาอยู่ในระบบการศึกษา 12 ปีใช่รึเปล่า คือตั้งแต่ประถม 1 ถึงมัธยม 6 จากนั้นก็ตะเกียกตะกายสอบแข่งกันหน้าดำเคร่งเครียดเพื่อเข้าไปในระบบมหาวิทยาลัยอีก 4 ปี ทั้งๆที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองทำอะไรได้ดี หรือฝันอยากเป็นอะไร

ใครเป็นคนบอกว่าต้อง 12 ปี แล้วจะต้องต่ออีก 4 ปี!!! ซึ่งนี่ถือเป็นมาตรฐานการศึกษาของเด็กไทยจริงๆหรือ?

ใครบอก ใครตั้งกฎเกณฑ์ แล้วอะไรมาวัดว่าต้องเป็นเช่นนั้น

มาฟังสัมภาษณ์มิสเตอร์ “จับฉ่ายแมน” หรือดร. วรภัทร์ ภู่เจริญ ในรายการเจาะใจ (ซึ่งเขียนไปเมื่อาทิตย์ที่แล้ว) ว่าเป็นคนไทยไม่กี่คนที่ได้ร่วมงานกับองค์กรนาซ่า แต่ในที่สุดกับปฏิเสธงานที่ได้รับมอบหมายเป็นครั้งสุดท้าย ว่าจะให้เดินทางไกลถึง 450 ล้านปีแสงเพื่อออกไปสำรวจว่าสุดขอบโลกมีอะไร

เมื่อมุมมองชีวิตเปลี่ยน เขาตัดสินใจหันหลังกลับมาเดินทางครั้งใหม่ แต่คราวนี้เป็นการเดินทางเข้าไปสำรวจหัวใจตัวเอง เป็นการสัมภาษณ์ที่สนุกมาก มีเนื้อหาสาระ ให้ข้อคิดให้อาหารกับรอยหยักของสมองของเราได้อย่างมาก แล้วพอมาฟังเขาพูดถึงระบบการศึกษาไทย

แหม! อันนี้มันกระแทกใจเราเข้าอย่างจังเบ้อเร่อ!

ดร. วรภัทร์พูดแบบค่อนข้างมั่นใจและฟันธงว่า ระบบการศึกษาของไทยล้มเหลว เปรียบเด็กไทยเหมือนกับ “ลูกอีแร้ง” ที่ต้องคอยแม่อีแร้งมาป้อนอาหารใส่ปาก ให้ออกไปศึกษาค้นหาเอง อันนี้ทำไม่เป็น ต้องคอยไปนั่งอยู่ตามโรงเรียนกวดวิชา

ซึ่งอันนี้มันสะท้อนอะไรได้อย่างหนึ่งว่า ครูในโรงเรียนให้ความรู้ไม่พอหรือ ทำไมเด็กต้องไปเสียเงินเพิ่มเติมอีก หรือครูคิดแค่ว่าให้ไปแค่นี้ก่อน อยากได้มากกว่านี้ต้องไปเจอฉันที่โรงเรียนกวดวิชา ฮา ๆ ๆ ๆๆ

นี่ระบบมันผิดเพี้ยนไปกันใหญ่แล้ว!!!

จำได้ว่าตอนตัวเองเรียนอยู่มัธยม 3 หัวเลี้ยวหัวต่อจะเข้ามัธยม 4 สมัยนี้ไม่รู้เป็นอย่างไร แต่สมัยโน้นทุกคนต้องมุ่งหน้าไปโรงเรียนเตรียมอุดม ไอ้เราก็ไม่ต่างอะไรกับลูกอีแร้ง คือไปสมัครเรียนเพิ่มเติมที่โรงเรียนกวดวิชากับเขาเหมือนกัน ซึ่งตอนนี้พอมองย้อนกลับไปแล้วอยากจะบ้า แต่อย่างว่าคนเราอาจจะทำอะไรโง่ๆสักอย่างสักครั้งหนึ่งในชีวิต อันนี้น่าจะให้อภัยกันเนอะ ๆ ๆ

ตอนไปนั่งเรียน โอ้โหทรมานมาก ถามตัวเองในใจว่า “นี่ตรูมานั่งทำอะไรที่นี่ (หว่ะ)”

อยากสอบติดก็อยากแหละ แต่ใจมันลอยออกนอกห้องเรียนแถวกิ่งเพชรไปโน่นแล้ว สนามบาสเกตบอล… ทนเรียนไปได้สักพัก บอกแม่ว่าไม่ไหวแล้ว สอบไม่ติดอย่าว่ากันนะ ตอนนี้ขอไปเล่นกีฬาก่อน แล้วด้วยความบังเอิญหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งข้อสอบมันเป็น multiple choices เราอาจดวงดีมั่วตอบถูก เลยได้เข้าไปทำโก้อยู่โรงเรียนที่ใครๆก็ว่าเป็นโรงเรียนอันดับหนึ่งของประเทศ

ซึ่งอันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ใครเอามาตรฐานอะไรมาวัด

แล้วจับพลัดจับผลูก็สอบเข้านิเทศ จุฬาฯ ได้ ซึ่งอาจจะเป็นความบังเอิญอีกครั้งหนึ่งของชีวิตก็ได้ใครจะไปรู้ พอมานั่งฟังสัมภาษณ์ดร. วรภัทร์เรื่อง “ครูกอดตำราพากันจมน้ำตาย” คือตำราก็ตำราเดิม ไม่รู้ผ่านไปกี่สมัยแล้วก็ไอ้เล่มเดิมนี่แหละ สอนก็สอนแบบขอไปที ข้อสอบที่ออกก็ข้อสอบเดิม ซึ่งออกมาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว

จำได้ว่าก่อนสอบหนึ่งคืน ก็เอาข้อสอบเก่ามาท่อง ๆ ๆ ๆ ๆ พรุ่งนี้ไปสอบ แค่เนี้ยะ!

ดร. วรภัทร์เขียนเรื่องระบบการศึกษาไทยไว้ในเว็บไซต์ www.gotoknow.org ชื่อ blog ว่า ariyachon (อริยชน) ว่างๆลองเข้าไปอ่านดูแล้วรู้สึกว่าเออ ถ้าบ้านเมืองเรามีคนประเภทนี้เยอะๆ ประเทศเราคงเจริญไปถึงไหนๆแล้ว

เขาเขียนไว้ตอนหนึ่งว่าในสมัยโบราณ การจะเรียนผ่านวิชาอะไร เขาใช้แบบ สอบ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ จนผ่าน เรียนไปกี่ปีก็ช่าง เช่น หมอชีวกไปเรียนที่ตักศิลา สอนวันสุดท้าย อาจารย์ถามว่า "ในระยะ 1 เส้น รอบตึกนี้ ต้นไม้ใดทำยาไม่ได้บ้าง"

หรือเส้าหลิน ใช้การผ่านด่าน 18 อรหันต์

“การศึกษายุคใหม่แบบชุ่ยๆ จบๆไป เร่งให้จบ 4 ปี ใช้ระบบตัดเกรดมันมักง่ายดี ..... พอจบแล้ว โยนภาระให้ องค์กร หน่วยงานต่างๆ รับภาระไปสอนต่อ”

ใครๆก็คงอยากจะเป็นปลาที่ว่ายตามกระแสน้ำ เพราะมันว่ายได้เร็วดี ไม่เหนื่อย ถึงฝั่งเหมือนๆกัน แต่จะมีสักกี่คนที่ประกาศทุบโต๊ะดังเปรี้ยง พร้อมประกาศว่า “เราจะขอเป็นปลาที่ว่ายทวนกระแส”

และแน่นอน ถ้าหากจะเปรียบเทียบ ดร. วรภัทร์คงจะเป็นหนึ่งในปลาประเภทหลัง ว่ายได้ช้าๆ เหนื่อยหน่อย แต่สักวันคงถึงฝั่งเหมือนๆกัน

(เป็นบทความตีพิมพ์ในคอลัมน์ต่างองศา วันที่ 23 มีนาคม 2553)

When light takes control



จำได้ว่าถ่ายรูปนี้ในเย็นวันหนึ่ง ก่อนเข้าไปทำงานตามปกติที่ร้าน Mr.Noodle วันนั้นท้องฟ้าทั้งผืนมืดมิด เหมือนใครเอาสีดำมาแต้มบนผ้าใบผืนใหญ่ แล้วในอีกไม่กี่วินาทีก็เหมือนมีแสงเรืองรองนิด ๆ โผล่เข้ามา ทำให้คิดได้ว่า ทุก ๆ ความมืดมิดคงจะมีแสงสว่างแวบเข้ามาตลอดแหละ เพียงแต่เวลานั้น อารมณ์นั้น เราไม่ได้สนใจหรือไม่ได้ใส่ใจมันด้วยซ้ำ

เพื่อนบางคนบอกว่ารูปนี้ให้ความรู้สึกน่ากลัว แต่เราเองกลับรู้สึกว่ามันให้กำลังใจดี โดยเฉพาะในวันที่เรารู้สึกแย่ ๆ หรือท้อแท้ เหมือนเรายืนมองกันคนละมุม

เชื่อเถอะว่า...

"There is always the light at the end of tunnel"

วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ละทิ้งนาซ่า สู่หัวใจตัวเอง

ดร. วรภัทร์กับสองพิธีกรรายการเจาะใจ

จดๆจ้องๆจะเขียนเรื่องราวของดร. วรภัทร์ ภู่เจริญมาสักพักใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ฤกษ์ลงมือสักที ไม่ใช่ว่าเรื่องราวความคิดของผู้ชายคนนี้ที่มีฉายาว่า “จับฉ่ายแมน” ไม่น่าสนใจ ในทางตรงกันข้าม เรื่องของผู้ชายคนนี้ถึงกึ๋นดีทีเดียว


ลังเลที่จะเขียน เพราะหนึ่งรู้สึกว่าเขียนยาก สองกลัวเขียนแล้วไม่ครบถ้วนกระบวนความ เพราะความน่าสนใจในตัวของผู้ชายคนนี้มีหลากหลายแง่มุม (ขอย้ำว่ามาก!!) ทั้งงานทางด้านวิชาการและแนวคิดในการดำเนินชีวิต มุมมองต่อโลก มุมมองกับคน สัตว์ สิ่งของ และ ฯลฯ

ผลัดไปเรื่อยๆจนกระทั่งคืนหนึ่งกดรีโมตไปเจอรายการ “เจาะใจ” กำลังสัมภาษณ์ผู้ชายคนที่กำลังอยากจะเขียนถึงอยู่พอดี ทางรายการจั่วหัวข้อได้น่าดึงดูดมากว่า “จากองค์กรนาซ่าสู่ป่าช้าไทย” แวบแรกคิดว่าเอ๊ะ! มันมีอะไรดี ขนาดเราพอรู้จักตัวตนของผู้ชายคนนี้มาสักพักใหญ่แล้ว ยังคิดว่าน่าสนใจที่จะติดตามรายการ

เพราะการอ่าน การฟังอาจจะไม่เข้าถึงอรรถรสมากเท่ากับตัวเป็นๆมานั่งคุยผ่านหน้าจอทีวี!!!

เอาง่ายๆไปก่อนแล้วกันว่า เมื่อ 20 ปีก่อนดร. วรภัทร์เป็นวิศวกรอยู่องค์กรนาซ่า และที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือเขาได้รับรางวัลงานวิจัยดีที่สุดระดับโลกเกี่ยวกับเครื่องยนต์ไอพ่น

พูดถึงองค์กรนาซ่า น่าจะเป็นองค์กรที่หลายคนฝันถึงและอยากจะร่วมทำงานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเดินทางออกไปสำรวจนอกโลก แต่มาถึงวันหนึ่งผู้ชายคนนี้ก็เริ่มสงสัยในตัวเองว่า “นี่ชีวิตเรามาถูกทางแล้วหรือ นี่คือสิ่งที่เราต้องการจริงๆในชีวิตหรือ”

เรื่องนี้มันมีที่มา…

หลังจากเขาได้รับมอบหมายงานชิ้นใหม่ ให้ไปสำรวจว่าสุดขอบโลกอยู่ที่ตรงไหน ซึ่งมันอยู่ไกลถึง 450 ล้านปีแสง คำถามแรกของเขาก็คือ

“so what?”

“ไปทำไร้ (หว่ะ)??” ประมาณนั้น!

จากงานมอบหมายชิ้นนี้เอง ทำให้เขาถามตัวเองว่า มนุษย์เราต้องการจะเดินทางออกไปสำรวจนอกโลก อยากรู้อยากเห็นว่าสุดขอบโลกอยู่ตรงไหน มันมีอะไรอยู่ตรงนั้น ถ้าโลกจะแตกเราจะย้ายไปอยู่ดาวดวงไหน

เดินทางกันไปเป็นล้านๆปีแสงขนาดนั้น ทำไมกับแค่เดินทางจากร่างกายไปสู่หัวใจแค่ 1 เซ็นติเมตร เราถึงไม่เคยสนใจหรือค้นคว้ากลับเข้าไปในใจของตัวเอง อันนี้เป็นคำถามที่มีที่มาหลังจากเขาติดหิมะอยู่บ้านเพื่อนในคืนหนึ่ง และได้มีโอกาสอ่านหนังสือธรรมะเล่มหนึ่งของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

อันนี้พอดูสัมภาษณ์แล้วโอ้โห! โดนเลย โดนตรงที่ว่าเออ! คนเราอยากจะเดินทางไปโน่นไปนี่ บางคนอยากจะไปเที่ยวรอบโลก บางคนฝันไปไกลขนาดอยากจะเดินทางออกไปนอกโลก

แต่เราลืมไปหรือไม่เคยสนใจที่จะเดินทางเข้าไปหาข้างในร่างกายของเราเองเลย จริงๆก็แค่ 1 ซม. อย่างที่บอก แต่เราละเลยมันไป อาจจะเป็นเพราะว่าอะไรที่อยู่ใกล้มากไป เราเองอาจจะมองไม่เห็น

ดร. วรภัทร์พูดเรื่องนี้ได้อย่างน่าคิดทีเดียวในเรื่องเกี่ยวกับพุทธะ อยากให้พวกเราหารายการเจาะใจที่ออกอากาศวันที่ 21 มกราคมในปีนี้มาดูกัน เชื่อเหลือเกินว่าหลังจากดูเทปสัมภาษณ์นี้แล้ว หลายคนอาจจะเกิดไอเดียปิ๊งปั๊งขึ้นมาว่า เราน่าจะเริ่มต้นเป็นนักสำรวจได้หรือยัง

เริ่มต้นง่ายๆจากการสำรวจจากหัวใจตัวเองก่อน!!!

นอกจากเรื่องการเดินทางเข้าไปค้นหาจิตใจตัวเองแล้ว ผู้ชายคนนี้ยังมีดีอีกหลายอย่าง ไว้อาทิตย์หน้ามาลองดูเขาวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาของเมืองไทยได้ถึงพริกถึงขิง ขอบอกว่าเป็นความจริงที่สั่นสะเทือน

และภาวนาอยากให้มันเป็นคลื่นที่เข้าไปกระทบเส้นสมองของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ ครูบาอาจารย์และนักเรียนนักศึกษา พร้อมกับถามทุกฝ่ายว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังสำหรับการเปลี่ยนแปลง

(เป็นบทความตีพิมพ์ในคอลัมน์ต่างองศา วันที่ 16 มีนาคม 2553)

วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Fly me to the moon


ลองหัดเล่นเปียโนแบบตาสีตาสา ไม่มีครูสอน หัดเล่นแบบมีตำรับตำรากองเต็มโต๊ะ อันไหนไม่เข้าใจก็วิ่งไปหาความรู้เพิ่มเติมจากอินเตอร์เนตเอา เรียกว่าเอาหัวใจใส่ลงไปในเพลงมากกว่า

บางทีคนเราก็คงไม่ได้ต้องการอะไรที่สมบูรณ์ ทำนองว่าจะต้องเล่นให้ได้แบบมืออาชีพ แต่เปียโนช่วยเราในแง่ของจิตใจเยอะ โดยเฉพาะในวันที่จิตใจว้าวุ่น ขาดสมาธิ ใจลอยไปโน่นนี่

สุดท้ายมาค้นพบว่า ความสุขมันหาง่าย ๆ แบบนี้เอง เมื่อเราได้นั่งอยู่บน bench แล้วเริ่มมั่วเล่นเพลงไปเรื่อย ๆ หนึ่งในเพลงโปรดที่ชอบมั่วคือเพลงนี้

Fly me to the moon! 



วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประตู


เมื่อประตูบานหนึ่งปิด ประตูอีกบานมักจะเปิดเสมอ

หมายเหตุ: โปรดทราบคิดถึงมาก

กับเพื่อนเก่า

“ทำอะไรอยู่”

“เป็นอย่างไรบ้าง”

“สบายดีไหม”

“มีแฟนหรือยัง”

คำถามเหล่านี้มักเกิดขึ้นเสมอเมื่อเราได้พบเจอเพื่อนเก่า และด้วยคำถามเหล่านี้ บางครั้งทำให้ตัดสินใจพยายามหาเหตุผลเพื่อบอกปัดงานสังสรรค์รื่นเริงประเภทนี้ ด้วยเหตุผลส่วนตัวว่าไม่ค่อยถนัดเรื่องงานบันเทิง ถ้าจะให้เลือกไป ถนัดไปงานประเภทงานศพงานเผามากกว่า

แต่งานนี้บอกกับตัวเองว่าต้องไป เพราะ 20 กว่าปีแล้วนะที่ไม่ได้เจอเพื่อนเก่าเลย มาประจวบเหมาะกับที่โรงเรียนกำลังจะมีงานคืนสู่เหย้าปลายปีนี้ ด้วยความคิดถึงเพื่อน คิดถึงความสุขในวัยเด็ก คิดถึงมิตรภาพที่เรามีให้กัน บอกกับตัวเองว่าคงถึงเวลาที่ฤาษีต้องออกจากถ้ำ

จริง ๆ แล้วมันมีช่วงเวลาที่เป็นอาการ “เก้อเขิน” เมื่อเราเจอกันใหม่ ๆ โดยเฉพาะในงานที่คนเยอะ ๆ เป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก แต่เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึก อาการเหมือนมีช่องว่างกลางอากาศ ความรู้สึกแบบนี้มั้งที่ทำให้เราพยายามหลีกเลี่ยงไปมา

แล้วอาการแบบนี้ก็กลับมาอีก เมื่องานเลี้ยงรุ่นอาทิตย์ที่แล้ว จำได้ว่าเป็นร้านอาหารใหญ่กลางใจเมือง ทั้งร้านมีแต่พวกเราไปจับจอง เวลาเดินเปิดประตูเข้าไปในร้าน ทุกสายตาจับจองมาที่เพื่อนผู้มาใหม่ จากนั้นก็มีคำถามแบบที่ว่าตามมามากมาย

เออ แต่มันก็ไม่เลวร้ายจนเกินไปนัก…

จริง ๆ แล้วต้องบอกว่าเป็นความสุขมากกว่า…

มีความสุขเพราะอะไร ?

เขาว่ากันว่า มิตรภาพในวัยเด็กเป็นความสัมพันธ์ที่บริสุทธิ์ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ไม่มีการบวก ลบ คูณ หารออกมาเป็นตัวเลข

และเมื่อเพื่อน 30 กว่าคนมาเจอกัน (หลังจากไม่ได้เจอกันมานาน 20 กว่าปี) เมื่อนั้นนกกระจอกก็เริ่มแตกรัง เหมือนกับการพยายามเอาปูมาใส่กระด้ง แต่ด้วยความคิดถึงกันมากมั้ง คือไม่มีใครฟังใคร มีแต่คนอยากพูด ๆ บางทีคำพูดก็ลอยผ่านหูไป เหลือแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

เมื่อคิดได้ตอนนั้น ก็เลยแกล้งพยายามทำเป็นคนหูหนวก เหมือนคนใส่ซาวด์เบ้าท์ รับสัมผัสได้อย่างเดียวคือการมองเห็น เมื่อสายตาได้ทำหน้าที่ของมัน โดยปราศจากเสียงรบกวน ทำให้รู้ว่า รอยยิ้มกับเสียงหัวเราะแบบนี้นี่เองที่เราได้ยินทุกวันเมื่อวัยเด็ก

รอยยิ้มกับเสียงหัวเราะแบบนี้เองนี่หว่า ที่เราได้ยินน้อยลงทุกทีเมื่อเราโตขึ้น…

และรอยยิ้มกับเสียงหัวเราะแบบนี้เอง ที่ดูเหมือนมันจะหล่นหายไปตามวัยที่มากขึ้น…

การได้กลับมาสัมผัสความรู้สึกอะไรแบบเดิมอีกครั้ง ทำให้รู้สึกว่าเพื่อนไม่ว่าจะห่างหายกันไปนานสักเท่าไหร่ ถ้าคิดจะต่อเมื่อไหร่ก็ติดเมื่อนั้น คงเหมือนการปักชำของต้นไม้มั้ง อยากจะปักชำต้นไหนมันก็งอกเงยขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว สัมพันธภาพของความเป็นเพื่อนคงเป็นแบบนี้

คืนนั้นเราจบงานด้วยการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ รวมตัวกันร้องคาราโอเกะที่ตึกเดียวกันข้างบน ในห้องคาราโอเกะนั้น เสียงเพลงทดแทนเข้ามาของเหล่าเสียงนกกระจอก ใครร้องเพราะไม่เพราะไม่รู้ รู้อย่างเดียวว่า

“ไอ้พวกเราถึงแม้จะแก่แล้ว แต่ก็ยังมีไฟอยู่”

เพื่อนสี่ขา

2-3 วันนี้ไม่รู้เป็นไง อยู่ดีๆก็คิดถึงเจ้าบราวด์ ไอ้ฟรอยด์และคุณคอฟฟี่ขึ้นมาอย่างรุนแรง ความคิดถึงนี่มันไปได้ทุกที่จริงๆ และเวลามันจะมา บางครั้งก็เหมือนกับจู่โจมจนเราตั้งตัวรับแทบไม่ทัน


และเมื่อเจ้าความคิดถึงมันพาไป…


ก็ย้อนเอาความทรงจำเก่าๆและดีที่สุดช่วงหนึ่งของแต่ละช่วงชีวิต ที่เราได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างช่วยไม่ได้ ไม่ว่าจะบราวด์ ฟรอยด์หรือคอฟฟี่ที่คิดถึงคือเจ้าเพื่อนสี่ขา ที่เราได้อยู่กันมาทีละตัวๆตั้งแต่เด็กจนโต ทุกวันนี้เหลือแต่เจ้าคอฟฟี่เท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่


…อันนี้น่าจะมีต้นเหตุ ที่มาที่ไปของเจ้าความคิดถึง

ฟรอยด์
เพราะเมื่อวันก่อนได้อ่านหนังสือแม่และเด็กเล่มหนึ่งของที่นี่ด้วยความบังเอิญ มีคอลัมน์ถามตอบจากแม่คนหนึ่งเขียนมาถึงแมกกาซีนเล่มนี้ เธอเขียนคำถามมาถามไว้อย่างน่าสนใจตรงที่ว่า


ปลาทอง สัตว์เลี้ยงของลูกเธอตายโดยไม่รู้สาเหตุ อารามตกใจกลัวลูกกลับจากโรงเรียนแล้วจะไม่เจอสัตว์เลี้ยงตัวโปรด เธอก็เลยตัดสินใจไปซื้อปลาทองตัวใหม่ (ซึ่งเดาเอาว่าปลาทองตัวไหนๆก็คงหน้าตาคล้ายกัน) มาแทนตัวที่ตายไปโดยไม่บอกให้ลูกรู้ เพราะกลัวว่าลูกจะเสียใจและรับไม่ได้กับความตายที่เกิดขึ้น


ซึ่งเธอก็เขียนมาถามด้วยความไม่แน่ใจว่า เธอทำถูกหรือทำิผิดที่ไม่สอนให้ลูกรู้จักความตาย???


จริงๆแล้วเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่จะต้องเรียนรู้ว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ผู้ใหญ่อาจจะง่ายหน่อยเพราะผ่านเรื่องเหล่านี้มาพอสมควร แต่กับเด็ก เราอาจจะต้องมีวิธีบอกที่นุ่มนวลกว่านั้น


อย่างกับแม่เด็กรายนี้ อาจจะต้องค่อยๆบอกความจริงกับลูก ให้เขาเข้าใจว่าความตายมันเกิดขึ้นกันได้กับสิ่งที่มีชีวิตทุกคนทุกตัวไม่มียกเว้น จะช้าหรือเร็วเท่านั้น บอกไปครั้งแรกลูกอาจจะช็อค ไม่เข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่นานวันเข้าเขาจะเริ่มเข้าใจ


แต่สิ่งที่ทำได้ก็คือ แทนที่จะปกปิดความจริงไว้ แม่ลูกอาจจะนั่งวาดภาพเจ้าปลาทองในความทรงจำด้วยกัน แล้วเอามาติดไว้บนบอร์ดเพื่อเป็นการระลึกถึง


เรื่องของแม่ลูกคู่นี้ ทำให้เรานึกย้อนไปถึงวันที่เจ้าบราวด์ หมาสีน้ำตาลพันธุ์ผสมได้หายออกไปจากบ้านสมัยที่เราอายุไม่กี่ขวบ จำได้ว่ามันเป็นความสูญเสียครั้งแรกในชีวิตวัยเด็กของตัวเอง วันที่มันหายออกจากบ้านไป เราเองยังมีความหวังแบบริบหรี่ว่า มันจะต้องกลับมาๆ


จำได้ว่าหลังจากรอการกลับมาของเจ้าบราวด์อย่างใจจดใจจ่ออยู่หลายวัน เลยตัดสินใจชวนน้าแบ้ว (น้องสาวของแม่ที่เลี้ยงเรามาตั้งแต่เด็ก) ไปตามหาไอ้บราวด์กันที่สนามหลวง เพราะสมัยนั้นที่สนามหลวงก็เหมือนสวนจัตุจักรขณะนี้ ที่มีสัตว์เลี้ยงวางขายมากมาย หวังใจว่าด้วยความน่ารักของมัน อาจจะทำให้คนเอามันมาขายต่อที่นี่ก็ได้


แปลกที่เราอาจจะจำรายละเอียดแต่ละวันในช่วงวัยเด็กไม่ได้ แต่ภาพวันนั้นไม่เคยลบเลือนไปจากความทรงจำของตัวเองเลย วันที่น้าหลานจูงมือกางร่มกันไปในวันฝนตก เดินตามหาเจ้าหมาตัวหนึ่งอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่รู้สึกร้อนไม่รู้สึกเปียกไม่รู้สึกเฉอะแฉะ


วันนั้นถือเป็นวันแรกของชีวิตที่เริ่มรู้จักว่า การสูญเสียคืออะไร?


และต่อๆมาก็ได้เรียนรู้และเข้าใจมากขึ้นกับเหตุการณ์สูญเสียมาเรื่อยๆไม่ว่ากับคน สัตว์ สิ่งของ เรื่อยมาจนถึงฟรอยด์ หมาพันธุ์ German Shepard ที่พี่ชายเอามาเลี้ยงจาก animal shelterที่นี่


ฟรอยด์อยู่กับพวกเรามาทั้งหมด 15 ปี กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวด้วยความเต็มใจของพวกเราทุกคน จริงๆแล้วเรากับฟรอยด์ เจอกันบ้างห่างหายกันไปบ้างตามแต่ช่วงจังหวะของชีวิต แต่ทุกครั้งที่เจอกัน มันเป็นความรู้สึกดีๆที่แค่มองตากันก็มองทะลุไปถึงก้นหัวใจ


วันที่ฟรอยด์จากพวกเราไป จำได้ว่าวันแรกที่ก้าวเท้าเข้าไปในบ้านหลังเดิม มองหามันด้วยความเคยชินว่ามันจะต้องวิ่งเข้ามาต้อนรับ หรือไม่ก็นอนรอตรงประตูหน้าบ้าน


รู้สึกใจมันหายเมื่อมองไปแล้วเจอกับความว่างเปล่า…


พร้อมกับบอกตัวเองว่า นี่คงเป็นอีกครั้งหนึ่งล่ะมั้งที่เราต้องเรียนรู้…

คอฟฟี่
ทุกวันนี้คอฟฟี่ยังอยู่ดีอยู่ ถ้าไม่เข้าข้างตัวเองจนเกินไปนัก มันคงเป็นหมาที่มีความสุขที่สุดในโลก มีคนเคยบอกว่า แข่งอะไรก็แข่งได้ แต่แข่งบุญวาสนาไม่ได้ อันนี้ท่าจะจริงกับคอฟฟี่ จากที่เป็นหมาโฮมเลสไม่มีใครต้องการ พี่ชายไปเอาเขามาจาก shelter ที่นี่เหมือนเคย แล้วจากนั้นคอฟฟี่ก็ถูกส่งกลับเมืองไทยตามพี่ชายไป


กลับไปบ้านที่กรุงเทพทีไร ส่วนหนึ่งก็เพราะมาจากความคิดถึงเจ้าตัวนี้ ทุกวันนี้เรากับคอฟฟี่เรียนรู้การลาจากกันเป็นอย่างดี เมื่อไหร่ที่เขาเห็นเราถือกระเป๋าใบโตเดินลงมาจากบ้าน เป็นอันรู้กันว่าเราต้องจากกันอีกครั้งหนึ่ง


คงจะเป็นทุกบททุกตอนล่ะมั้ง ไม่ว่ากับปลาทอง กับเพื่อนสี่ขา หรือกับคนที่เรารัก ในบริบทที่ว่าถ้าเราทำความรู้จักและเข้าใจการลาจากเป็นอย่างดีแล้ว มันคงเป็นเรื่องไม่ยากจนเกินไปนักที่จะผ่านความรู้สึกแบบนี้ไปได้

(เป็นบทความตีพิมพ์ในคอลัมน์ต่างองศา วันที่ 2 มีนาคม 2553)