วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ฝนตก

เครดิตรูปจาก www.howdythaihotel.blogspot.com

ตั้งแต่กลับมากรุงเทพฯ ได้อาทิตย์กว่า ฝนฟ้าตกแบบหลงฤดูเกือบจะวันเว้นวัน ตกมาแต่ละทีแรงจนทำให้กรุงเทพกลายเป็นคลองแทบในพริบตา นอกจากน้ำท่วมแล้ว ฝนตกรถติดแทบจะเป็นของตัดกันไม่ขาด
จะว่าไปคนกรุงเทพฯ กลัวฝนก็คงไม่ผิดนัก
เมื่อเย็นวันนี้ที่กำลังนั่งเขียนต้นฉบับอยู่นี่ เจ้าฝนก็เทลงมาเหมือนกับนัดหมายคนเมืองเอาไว้ คือชอบตกเวลาเลิกงานเป๊ะ ๆ แต่มานั่งทบทวนความทรงจำ จริง ๆ แล้วถึงแม้เราจะเกิดและอาศัยอยู่ในเมืองมาตั้งแต่เกิด จำได้ว่าความรู้สึกสนุกเกิดขึ้นทุกครั้งเวลาท้องฟ้าคำรามฮึ่ม ๆ มาแต่ไกล
จนพาลทำให้นึกไปว่า นี่เราเล่นน้ำฝนครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
ยังจำความรู้สึกเมื่อตอนเป็นเด็กได้ดี ตอนที่เป็นนักกีฬาบาสเกตบอลของโรงเรียน แล้วต้องเก็บตัวอยู่ที่นั่น ทุกครั้งเวลาที่ฝนตกจะเป็นข่วงเวลาสุขสดชื่นที่สุด เหมือนหัวใจมันโบยบินออกไปไกล รู้สึกได้ถึงความอิสระเสรีสุด ๆ เพราะการอยู่โรงเรียนในช่วงฝนตกนั้น หมายความว่าเราจะเล่นน้ำฝนได้อย่างสมใจแบบไม่ต้องมีใครมาห้าม
จะเล่นนานเท่าไหร่ก็ได้จนกว่ามาเซอร์จะมาเห็น
เมื่อนั้นความสุขเป็นอันจบสิ้น
แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่าอยู่บ้าน เพราะนอกจากจะได้เล่นกับเพื่อนแล้ว เรายังได้เพลิดเพลินกับน้ำท่วม เพราะด้วยความที่โรงเรียนอยู่ติดเชิงสะพานซังฮี้ เมื่อฝนตกหนักจนไม่มีที่ระบาย น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาก็ไหลเข้ามาท่วมโรงเรียน  
เมื่อนั้นนับว่าเป็นเวลาที่เรามีความสุขที่สุด
แล้วครั้งสุดท้ายเราเล่นน้ำฝนกันเมื่อไหร่
จำได้ว่านานมาก นานจนแทบจำไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ แล้วทำไมอยู่ดี ๆ ก็รังเกียจน้ำฝนขึ้นมาซะอย่างงั้น หรือความเป็นเด็กมันหายไปนับตั้งแต่ที่เราออกจากโรงเรียน
นอกจากเมื่อโตขึ้นจะไม่ยอมเล่นน้ำฝนแล้ว ช่วงย่างเข้าวัยรุ่นยังจำได้ว่าน้ำฝนมักจะมาพร้อมกับอารมณ์เพ้อ ๆ ฝัน ๆ เหงา ๆ อย่างไรพิกล อารมณ์แบบนี้ไม่รู้มันเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ตอนนั้นได้แต่บอกกับเพื่อนว่า ชอบนั่งมองฝนตก รู้สึกว่ามันได้อารมณ์เหงาดี
ผ่านร้อนผ่านหนาวจนมาถึงเมื่ออายุถึงคราวย่างเข้าเลขสี่ ไม่รู้จะเป็นเพราะอิสรภาพที่ใครขีดเอาไว้ ความคิด อารมณ์ น้ำฝน ความสุข ความสนุก ความเหงา มันมารวมตัวกันได้อย่างไร
และเมื่อน้ำฝนก็ยังคงทำหน้าที่ตามธรรมชาติของมัน
เราก็ยังคงต้องทำตามหน้าที่ของตัวเองไปเรื่อย ๆ
ว่าแล้วตั้งหน้าตั้งตารอฝนตกครั้งต่อไปดีกว่า จะลองออกไปเล่นน้ำฝนดูอีกที เผื่อความรู้สึกสนุก ๆ และอิสรภาพที่คงกำลังเดินหลงทางที่ไหนสักแห่งจะกลับคืนมาสู่ตัวเราอีกสักครั้ง

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การรอคอย

เครดิตรูปจาก www.junjaowka.com

ชีวิตคนเมืองมักจะเร่งรีบไปเสียทุกอย่าง เร่งรีบจนบางครั้งเราลืมมองสิ่งที่สวยงามที่เกิดขึ้นไปอย่างน่าเสียดาย เคยเห็นคนที่เร่งรีบการใช้ชีวิตมาก ๆ จนบางทีอยากจะสะกิดถามเขาว่า ชีวิตนี้มีความสุขดีอยู่หรือ? กับการเร่งรีบแบบนี้
คำตอบคือ คงไม่
แต่เขาอาจจะเลือกไม่ได้ก็ได้ เพราะถ้าไม่เร่งรีบก็อาจจะหมายความถึงไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีกิน แม้ชีวิตทั้งชีวิตพยายามจะบอกใครต่อใครว่า เงินไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต แต่ก็อดมองอีกมุมไม่ได้ว่า เงินก็มีความจำเป็นในชีวิตเราบ้าง แต่เราต้องรู้จักใช้มันให้เป็นมากกว่าให้เงินมาใช้เรา
เขียนมาถึงบรรทัดนี้ แอบได้ยินเสียงแม่บ่นลอยมาตามลมว่า
แกไม่เคยลำบาก ไม่รู้หรอก ว่าไม่มีเงินนี่มันเป็นยังไง
อันนี้อาจจะจริง ถึงแม้ครอบครัวเราจะไม่ใช่ครอบครัวที่ร่ำรวยเงินทอง แต่ก็ไม่ได้ลำบากขัดสนอะไรสักอย่าง คืออยากได้อะไรก็ได้ ของบางอย่าง แพงหน่อย อาจต้องรอเวลาในการที่จะได้มา แต่สุดท้ายแม่กับป๊าก็จะหามาให้เสียทุกครั้งไป
จำได้ว่าตอนวัยรุ่น อยากได้รองเท้าแตะยี่ห้อสกอลล์ ต้องใช้ปากกายี่ห้อร๊อตติ้ง เสื้อยืดแตงโม กระเป๋านักเรียนต้องจาค็อบ และ ฯ ล ฯ สิ่งเหล่านี้ขอแม่แล้วไม่เคยได้ เพราะแม่บอกว่าฟุ่มเฟือย แต่ถ้าอยากได้จริง ๆ ต้องเข้าทางป๊า ขออะไรเป็นได้หมดทุกอย่าง
เพียงแต่อาจจะไม่ได้ทั้งหมดภายในครั้งเดียว
การรอเป็นการฝึกฝนของเราอีกแบบ และเพราะการรู้จักการรอตั้งแต่เด็ก ทำให้เราไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรมาก เมื่อเพื่อนมีของอะไรสักอย่าง แต่เรายังไม่มีหรือยังมีไม่ได้ ก็ไม่เคยรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจเลยสักครั้ง
ต้องขอบคุณคำสอนที่แม่มีให้กับเรามาเสมอว่า ให้ใช้เงินให้เป็น กินหรูบ้าง นอนแพงบ้าง แต่วันไหนใช้เงินมากแล้ว พรุ่งนี้ต้องใช้ให้น้อยลง
ชีวิตที่รู้จักการรอ ทำให้เราเคยชินกับการใช้ชีวิตแบบไม่เร่งรีบ ชอบที่จะใช้ชีวิตในบ้านมากกว่านอกบ้าน ความสุขไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล เพราะมันเริ่มต้นจากที่บ้าน การที่ใช้ชีวิตแบบนี้จะว่าไปมันก็ดีสำหรับคุณภาพชีวิตของเราเอง แต่บางครั้งแม่ชอบบ่นว่าเราเดินช้าไป
เดินช้า
คิดช้า
ช้าจนบางทีออกไปนอกบ้านทีไร ไม่ค่อยเข้าใจกับการเร่งรีบของผู้คน แล้วจะรู้สึกรำคาญใจเสียทุกครั้งเวลาได้ยินเสียงแตรรถยนต์ ซึ่งมันดังไปสั่นประสาทแก้วหูของเราไปเสียทุกครั้ง พร้อมจะบ่นพึมพำกับตัวเองว่า มันจะรีบไปไหน (หว่ะ)”
บ่นมาถึงตรงนี้ เสียงแม่เหมือนจะลอยตามลมมาอีกครั้งว่า ไอ้เราก็เดินช้าเกิ๊น เดินให้มันไวหน่อย เดี๋ยวแม่ก็ไม่อยู่แล้ว
เอาน่าแม่! จะเดินช้าก็เดินช้าแบบมั่นคง พร้อม ๆ กับไอ้ตัวความสุขก็เดินไปข้าง ๆ กับเรา สุขแบบนี้ใครจะเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม!

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เติมคำในช่องว่าง

เครดิตรูปจาก www.psychologythailand.com

ทุกบททุกช่วงของชีวิต มักจะมาคู่กับบททดสอบ
ในวัยเด็กที่เรายังอยู่โรงเรียน จำได้ว่าฤดูสอบทุกครั้ง ชีวิตการเรียนมักจะเต็มไปด้วยข้อเลือก หรือภาษาทางการที่เราคุ้นหูกันดีคือข้อสอบปรนัย หรือที่ฝรั่งเรียกว่า มัลติเพิลชอยส์
บางครั้งบางคราวก็อาจจะต้องทำข้อสอบที่เป็นอัตนัยบ้าง เติมคำในช่องว่างบ้าง หรือที่เรารู้จักกันดีว่า ข้อสอบอัตนัย เป็นข้อสอบที่ฝรั่งเรียกว่าข้อเขียน
เมื่อโตขึ้นเข้ามหาวิทยาลัย เริ่มคุ้นเคยกับข้อสอบแบบข้อเขียน ที่ต้องเขียนกันเป็นเล่ม ๆ เรียกว่าเอาความรู้ทั้งหมดที่เรามี ออกมาเรียงความให้อาจารย์อ่าน และต้องพยายามเขียนให้โน้มน้าวใจของอาจารย์คนนั้น ๆ ว่าเรามีความรู้ในการตอบคำถามข้อนั้นจริง
การทำข้อสอบข้อเขียนแบบนี้ ยากอยู่เหมือนกันในการตอบ เพราะเราต้องเดาใจอาจารย์ตรวจข้อสอบให้ได้ว่า คำตอบแบบไหนถึงจะถูกใจเขาหรือเธอ อันนี้พูดยากในการที่นักเรียนหนึ่งคนจะได้เกรด เอ, บี, ซี, ดีหรือเอฟ
ขึ้นอยู่กับดุลพินิจส่วนตัวของอาจารย์
เมื่อออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัย บททดสอบยังทำหน้าที่ของมันมาเรื่อย ๆ ราวกับเป็นนาฬิกาที่เดินอย่างเที่ยงตรง ส่วนใหญ่มักจะเป็นคำถามให้เราเติมคำในช่องว่าง จะเอาแบบไหน จะตัดสินใจอย่างไร จะเดินไปทางไหน
บางครั้งตอบถูก
ชีวิตราบรื่น สบายใจ ยิ้มได้ หัวเราะออก มีความสุข
บางครั้งตอบผิด
ชีวิตแย่ ผิดหวัง ร้องไห้ มีความทุกข์
แต่อย่างน้อยยังมองโลกในแง่ดีที่ว่า เราได้เรียนรู้ในการที่เราเลือกทางผิด เพื่อที่จะได้มีสติมากขึ้นในการเลือกครั้งต่อไป บทเรียนในชีวิตเริ่มต้นจากตรงนั้น
บางครั้งมันไม่ได้แค่จะเลือกทางที่หนึ่ง หรือทางที่สอง บางทีมันมีทางเลือกมากกว่านั้น การเติมคำในช่องว่างแบบนี้ไม่ได้ง่าย บางทีเราเองใจร้อนเกินไปในการตัดสินใจ หรือบางครั้งก็ลืมคิดไปว่าชีวิตไม่ได้มีแค่เกรด มันมีความละเมียดละไม มีอารมณ์มีความรู้สึกอยู่ในทุกเรื่องราว
ของแบบนี้ต้องใช้สติและเหตุผลประกอบการตัดสินใจให้มาก ๆ
แม้ว่าสติและเหตุผลจะเป็นส่วนประกอบใหญ่ในการตัดสินใจแต่ละครั้ง แต่อย่าลืมแคร์ความรู้สึกตัวเองบ้าง คนเราชอบพูดกับใครต่อใครได้เป็นบ้าเป็นหลัง แต่หลายครั้งลืมที่จะสื่อสารกับข้างในหัวใจตัวเอง ว่านี่คือสื่งที่เราต้องการจริงหรือ?  
ของบางอย่าง คนบางคน ชีวิตบางช่วง ผ่านมาแล้วผ่านเลยไป ไม่ได้เดินย้อนกลับมาอีก การตัดสินใจทุกครั้งมีผลกับการเดินต่อของชีวิต ไม่ว่าจะผิดหรือถูก หรือครั้งแรกคิดว่าถูก แต่ต่อมากลายเป็นผิด หรือในทางกลับกัน ครั้งแรกคิดว่าผิด ต่อมาคิดว่าถูก (งงไหม)
และไม่ว่าจะผิดหรือถูก ชีวิตคือการเรียนรู้ ขอให้สนุกสนานกับการเติมคำในช่องว่างของชีวิตไปเรื่อย ๆ นะคะ

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

หนังสือพิมพ์

เครดิตรูปจาก http://www.ads-news.com/

มีบทสนทนาหนึ่งที่บังเอิญแอบได้ยินคนสองคนคุยกันในลิฟต์เมื่อหลายปีก่อน (แต่ยังติดหูจนถึงทุกวันนี้) คนหนึ่งเป็นฝรั่งที่ทำงานกับสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ๋ที่เมืองไทย ส่วนอีกคนเป็นคนสื่อตัวจริงเสียงจริง คลุกคลีกับวงการน้ำหมึกมาเป็นสิบ ๆ ปี ถ้าเอ่ยชื่อ คนบ้าข่าวคนนี้อย่างไรทุกคนต้องรู้จัก
ฝรั่ง: ถ้าวันหนึ่งเกิดไม่มีหนังสือพิมพ์ขึ้นมา พวกเราจะทำอะไรกันดี
คนสื่อ: ผมว่ามันคงไม่ไวขนาดนั้น แต่ก็ไม่แน่อะไรก็เกิดขึ้นได้
ฝรั่ง: ผมคงต้องไปหางานอย่างอื่นทำ
คนสื่อ: ผมก็เหมือนกัน
ว่าแล้วบทสนทนาก็จบลงตรงลิฟต์เปิด แล้วต่างคนต่างแยกย้ายไปทำงานกันต่อไป เชื่อว่าคงเป็นวันหนึ่งที่ทำงานกันไปแบบไม่สบายใจนัก กับทุกวันนี้ที่โลกเทคโนโลยีมันหมุนไปอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งมันน่าใจหายสำหรับคนที่รักงานหนังสือพิมพ์หรือคนที่ชอบอ่านหนังสือพิมพ์เป็นชีวิตจิตใจ
เมื่อวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมา แล้วไม่มีหนังสือพิมพ์ให้อ่าน?
จะเกิดอะไรขึ้น?
เป็นคำถามที่ติดค้างและคาอยู่ในใจตัวเองมานานมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวเองอาจจะทำใจไม่ได้ เพราะอยู่ดี ๆ ใครจะมาบอกว่า วิขาเอกหนังสือพิมพ์ที่เราร่ำเรียนมาจะไม่มีอีกต่อไป เรียนกันมาตั้ง  4 ปี ออกไปฝึกฝนทำงานกันอีกหลายปี แล้วจะให้มันอันตรธานหายไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันจะเป็นไปได้อย่างไร
แต่ตอนนี้มันก็เกือบจะเป็นไปแล้ว
ต้องยอมรับว่าหนังสือพิมพ์ทุกแห่งทั่วโลก ต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรกันขนานใหญ่ ต้อนรับการมาเยือนของการเสพข่าวสารทางอินเตอร์เนต แทนที่จะเดินออกไปซื้อหนังสือพิมพ์ทุกเช้า หรือมีหนังสือพิมพ์กองโตมาวางไว้หน้าบ้าน
ทั้งนี้ทั้งนั้นส่วนใหญ่จะหันไปจับสื่อดิจิตัล เอาใจการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อ่านรุ่นใหม่ ที่ต้องการข่าวที่สด ใหม่ และรวดเร็ว
ถามว่าดีไหมกับข่าวที่สด ใหม่ และรวดเร็ว? ดีมาก ๆ
แต่ถามว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นมากไหม? ก็ต้องตอบอีกเหมือนกันว่า มาก ๆ
ดูตัวอย่างที่กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ วันที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแถลงเรื่องเกี่ยวกับโอสามา บิน ลาเดนถูกปลิดชีพ วันนั้นทุกสื่อจับจ้องไปที่ข่าวนี้กันทั่วโลก และอยากจะเป็นที่หนึ่งทางด้านความเร็ว
Fox News ขึ้นเฮดไลน์ทันทีว่า
“Obama Bin Laden is dead”
เฮ้ย Obama หรือ Osama ความเร็วแบบนี้ก็ฆ่าตัวตายได้เหมือนกันจริงไหม
หลังจากผ่านไปหลายปี อยู่ดี ๆ วันนี้บทสนทนาวันนั้นก็เข้ามาวิ่งวนอยู่ในหัว แต่ ณ เวลานี้ดูเหมือนเราจะตอบตัวเองได้แล้วว่า หนังสือพิมพ์มันไม่ได้หายไปไหนหรอก อย่าเพิ่งตื่นตระหนกตกใจไป เพียงแต่มันแค่เปลี่ยนวิธีการสื่อสารจากน้ำหมึกเป็นดิจิตอลเท่านั้นเอง
คนสื่อก็ยังคงทำหน้าที่เหมือนเดิม แต่อาจจะต้องขยันเพิ่มขึ้น เพราะทุกวันนี้โลกเราเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่ลอยอยู่ในโลกของอินเตอร์เนตเต็มไปหมด อันไหนจริง อันไหนเท็จ คงเป็นหน้าที่ของสื่อในการพิจารณากลั่นกรองและเสนอข่าว
โลกทุกวันนี้หมุนเร็วขึ้น เราต้องปั่นตามมันให้ทัน