วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

ความกล้า

เครดิตรูปจาก http://randomthoughtsonlifeblog.com

วันนั้นเราขับรถออกจากปากซอยบ้านตามปกติ ออกตามทางเรื่อยมาจนถึงหน้าปากซอย ข้างหน้าบ้านเป็นถนน 8 เลน ค่อนข้างใหญ่พอสมควรที่จะวิ่งได้ฉิว ๆ ช่วงเวลาไม่เร่งด่วน เรากะเวลาเข้าออกแบบคนทำงานเข้าออฟฟิศกันหมดแล้ว คิดว่าจะต้องออกไปเจอถนนโล่งพอจะขับให้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างสบาย ๆ

กลับรถออกมา เพื่อขับขึ้นไปเพื่อขึ้นทางด่วน อารมณ์คนขับเป็นปกติ เปิดเพลงชิลล์ ๆ แอร์ในรถกำลังเย็นสบาย แล้วก็ต้องเหยียบเบรคแทบไม่ทัน จากถนนคิดว่าโล่งกลายเป็นติดแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ตัดสินใจตีรถออกทางขวา แล้วภาพเคยชินก็ปรากฎอยู่ตรงหน้า ไม่รถเมล์ก็รถตู้ ไม่รถตู้ก็รถแท๊กซี่ ไม่รถแท็กซีก็รถยนต์ส่วนตัว ที่คอยเปิดไฟฉุกเฉิน ซึ่งกินพื้นที่บนถนนไปถึง 3 ใน 4 เลน

เป็นภาพที่พยายามบอกตัวเองว่า

ยังไม่ชินอีกหรือ

น่าจะชินกับสภาพแบบนี้ในกรุงเทพ ฯ ได้แล้ว

แต่ก็ตอบตัวเองได้ว่า ยังไม่ชินทุกที

มันพาลทำให้หงุดหงิดทุกครั้งที่ต้องเจอกับคนขับรถแบบเหมือนข้าเป็นคนสร้างถนนขึ้นมาเอง

พอพาลหงุดหงิด ก็ต้องพูดกับตัวเองว่า เอาน่าหงุดหงิดไปก็ไม่ได้อะไร มันเป็นเพียงแต่สภาพที่เราต้องยอมรับ แต่อยู่มาวันนี้ทำให้ฉุกคิดได้ว่า มันไม่ควรจะเป็นเรื่องที่เคยชิน แต่มันน่าจะเป็นเรื่องของความรับผิดชอบของทุกคนกับถนนที่เราต้องแบ่งกันใช้มากกว่า

เรื่องแบบนี้บางคนเห็นว่าเป็นเรื่องเล็ก เพราะกับนิสัยคนไทยอะไรก็ได้ ยอม ๆ กันไป แต่เรื่องกฎระเบียบวินัยง่าย ๆ แบบนี้ เราควรจะต้องทำกันให้ได้ การฝึกตัวเองให้เป็นคนมีระเบียบวินัย หัดเคารพในกฎกติกา เป็นปัจจัยสำคัญให้ประเทศเราเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

พูดถึงเรื่องนี้ แล้วทำให้นึกถึงเรื่องการตรงต่อเวลาของคนไทย วัดเอาเองจากเด็กนักเรียนที่ตัวเองสอนอยู่, คนที่เราต้องนัดพบเจอเพื่อพูดคุยธุระ, การตรงต่อเวลาในการเข้างานของลูกน้องที่ร้าน ยอมรับว่า

บางครั้งก็ทำให้หงุดหงิดเหมือนกัน เพราะตัวเองเป็นคนถูกเทรนมาให้ตรงต่อเวลา ยิ่งนัดไหนเป็นแมทช์สำคัญถึงกับวางแผนล่วงหน้าเอาไว้นาน ๆ หรือบางทีตัวเองก็ยอมเป็นฝ่ายไปก่อนเวลา เพื่อจะได้ไม่พลาดนัดครั้งนี้

แต่ก็มีประโยคหนึ่งที่ชอบมากระทบโสตประสาทเราบ่อย ๆ ว่า

ใคร ๆ เขาก็มาสายกัน

ใคร ๆ เขาก็ส่งงานไม่ตรงเวลากันทั้งนั้น

คำว่าใคร ๆ นี้คงไม่ได้รวมหมายถึงเรา เพราะเป็นคนเป๊ะมาตั้งแต่เด็ก เรื่องผิดเวลานัดนั้นจะเกิดขึ้นน้อยครั้งมาก ๆ ถ้าไม่ใช่เหตุสุดวิสัย

ทั้งนี้ไม่ได้มาเขียนไว้เพื่อชมตัวเอง เพียงแต่แค่รู้สึกว่าคนในประเทศต้องมีระเบียบวินัยก่อน ประเทศชาติถึงจะเจริญได้ ช่วยกันทำคนละเล็กคนละน้อย เมื่อรวมกันมันจะเหมือนเป็นคลื่นลูกใหญ่ พัดพาหรือหันเหสังคมของเราให้เดินไปบนทางที่แข็งแรงมากขึ้น

กล้าที่จะคิดแตกต่าง

กล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง

และกล้าที่จะมั่นคงในจุดยืนของตัวเอง

ความกล้าที่จะคิดต่าง และความกล้าที่จะแหกกฎในสิ่งที่คนอื่นเขาทำ ๆ มา ไม่เพียงแต่จะทำให้คลื่นไม่กลายเป็นเพียงคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง แต่จะเป็นคลื่นที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ในสถานที่ ๆ เราใช้ชีวิตอยู่ ณ ตรงนั้น





ครูต้นแบบ



รากฐานของการพัฒนาประเทศ ล้วนเกิดมาจากการศึกษาของคนในชาติแทบทั้งนั้น สมการหลักของการศึกษาก็น่าจะแบ่งออกเป็น 3 กลไกหลัก ๆ คือ หนึ่ง นักเรียน, สอง ครูบาอาจารย์, และสาม นโยบายการศึกษาของรัฐบาล

เคยผ่านชีวิตการเป็นนักเรียนมาแล้ว ประสบการณ์บอกว่ามีครูอยู่ไม่กี่คน ที่ถือว่าเป็นครูที่เป็นครู ทั้งสอนทั้งเข้าใจในสิ่งที่เราคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนในห้องเรียน หรือกิจกรรมนอกห้องเรียน มาวันนี้ได้เป็นครูกับเขาบ้าง ก็พยายามที่จะสอนให้เด็กได้สนุกกับการเรียน ไม่ซีเรียสหรือไม่เข้มจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้ปล่อยจนทำให้เด็กเดินออกไปนอกห้องเรียนด้วยหัวสมองที่ว่างเปล่า

ถ้าจะถามว่าใครเป็นคุณครูฮีโร่ และเป็นต้นแบบที่อยู่ในใจเรามาตลอด คงจะตอบได้ทันทีว่าครูนั้นชื่อ ครูคีตติ้ง เป็นครูที่ไม่ได้มีอยู่ในชีวิตจริง แต่กลับไปมีบทบาทในแผ่นฟิล์มเรื่อง Dead Poet Society เป็นหนังที่ Robin Williamsแสดงเป็นมิสเตอร์คีตติ้งของเด็ก ๆ หนังเรื่องนี้ถ้าให้เดาน่าจะเป็นหนังเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ถ้าใครยังไม่ได้ดู ขอแนะนำเลย โดยเฉพาะคนที่เป็นครูบาอาจารย์ว่าเราจะเข้าใจและเรียนรู้ไปกับเด็กได้อย่างไร

จริง ๆ แล้วคงจะมีหนังในดวงใจไม่กี่เรื่อง ที่เราสามารถดูย้อนซ้ำได้บ่อย ๆ แต่แปลกหนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนั้น เพราะดูทีไรรู้สึกว่าอิ่มเอิบใจไปเสียทุกครั้งไป คงจะเป็นเรื่องของการอิ่มใจไปกับบทภาพยนตร์, นักแสดง, และคำพูดที่ถ่ายทอดออกมาผ่านตัวละครทุกตัวจากมุมมองของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ยังจำคำพูดบางคำที่ดูเหมือนจะเข้ามีอิทธิพลกับการใช้ชีวิตของเราจนถึงปัจจุบันนี้ไม่มากก็น้อย อย่างเช่นตอนที่ครูคีตติ้งสอนเด็กในห้องเรียนเกี่ยวกับวิชากวีว่า

"We don't read and write poetry because it's cute.
 We read and write poetry because we are members of the human race.
 And the human race is filled with passion.
 And medicine, law, business, engineering, 
 these are noble pursuits and necessary to sustain life.
 But poetry, beauty, romance, love, these are what we stay alive for.

ทุกวันนี้บทบาทชีวิตของตัวเองที่เปลี่ยนไป ได้จับพลัดจับผลูเป็นครูบาอาจารย์กับเขาบ้าง จะรู้สึกดีใจทุกครั้งถ้าเด็กรู้สึกสนุกกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในห้องเรียน หรือบางวันก็รู้สึกแย่ถ้าวันนั้นรู้สึกเด็กไม่แฮปปี้กับสิ่งที่เราคุยกันในห้องความรู้สึกแบบนี้คงมีเด็กคนไหนกล้าเดินเข้ามาบอก แต่สิ่งเหล่านี้เราสามารถรู้สึกมันได้เอง
พยายามบอกกับนักเรียนตัวเองอยู่เสมอว่า อยากจะทำอะไร อยากจะเรียนอะไร ขอให้บอกอาจารย์ ๆ จะพยายามทำให้พวกเรามีความสุขทุกครั้งที่เราได้เจอกัน เป็นการแบ่งปันความรู้และได้เรียนรู้ทั้งจากครูสู่นักเรียน และจากนักเรียนสู่ครู เชื่อว่าไม่มีใครรู้เรื่องไปหมดเสียทุกอย่าง บอกกับนักเรียนตลอดว่า ถ้าอาจารย์ไม่รู้ อาจารย์จะไปค้นคว้าหามาให้
และสิ่งที่ย้ำและเน้นอยู่เสมอว่า อย่าไปซีเรียสจริงจังกับเล็คเชอร์มากนัก หรืออย่าใช้เวลาทั้งวันกับการอ่านหนังสือเรียน โลกข้างนอกยังมีอะไรให้เราเรียนรู้อีกเยอะ การได้ออกไปเที่ยว, การได้เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ, หรือแม้กระทั่งการใช้เวลาอยู่กับกิจกรรมน้อกห้องเรียน สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นครูในชีวิตของเราทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจะพยายามสอนให้เขาแบ่งเวลาให้เป็น บาลานซ์ชีวิตตัวเองให้ได้ แล้วทุกอย่างก็จะเดินไปตามจังหวะของมัน
เขียนบทความชิ้นนี้ในวันที่ 16 มกราคม ซึ่งถือเป็นวันครูของประเทศไทย แล้วอยู่ดี ๆ ก็นึกถึงหนังเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ ว่าแล้วคงไปค้นกรุหนังเก่ามาเปิดดูอีกรอบ เพราะดูเหมือนเสียงบทสุดท้ายของตอนจบจะดังกึกก้องสะท้อนอยู่ในความทรงจำไปมา ตอนที่นักเรียนต่างยืนขึ้นบนโต๊ะเพื่อแสดงความเคารพครูคีตติ้งครั้งสุดท้ายว่า
“O captain, my captain”
ส่งความปรารถนาดีมาให้ในวันครูนี้ด้วยคะ สำหรับทุกคนที่กำลังสนุกสนานกับการเรียนรู้ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง


วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

เรียนรู้



การเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในชีวิตของคนเรา ไม่ใช่ว่าจบจากโรงเรียน, ได้รับปริญญาแล้วจะหมายความว่า เราไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อะไรอีก เพราะถ้าเป็นแบบนั้น คงเหมือนกับเราได้ย้ำอยู่กับที่ หรือไม่ก็ถอยหลังเข้าคลอง 

บอกกับนักเรียนของตัวเองอยู่เสมอว่า การเรียนในห้องเรียนเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในชีวิตมหาวิทยาลัย อย่าเอาชีวิตไปทิ้งกับมันทั้งหมด จริง ๆ แล้วมันยังมีอะไรให้เราเรียนรู้อีกมากภายนอกห้องเรียน และที่สำคัญอย่าไปซีเรียสกับเกรดหรือคะแนนมากจนกลายเป็นวิตกจริต 

วันนี้ที่เราเรื่องการเรียนรู้ เพราะดูเหมือนว่ามันมีอะไรที่ท้าทายเข้ามาทดสอบเราตลอดเวลา จะหลบจะหลีกอย่างไรบางทีก็หนีไม่พ้น บางทีการเรียนรู้ ถ้าเราเริ่มจากสิ่งที่เราสนใจ, จำเป็นต้องทำ, มีความรักที่จะรู้, อันนั้นจะทำให้เราเรียนรู้ได้เร็วได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เร็ว ๆ นี้เริ่มทำห้องใหม่ที่บ้าน เริ่มตั้งแต่ทุบห้องน้ำ, รื้อของเก่าออก, คิดเองทำเองกัน 2 คนกับคนใกล้ตัว เรามีความฝันในหัวมาขาย มีช่างคู่ใจมาเป็นคนทำความฝันออกมาให้เราจับต้องได้ ต่างคนต่างลองผิดลองถูก ใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ต่างคนต่างมีมาคุยกัน 

การเรียนรู้จึงเริ่มจากตรงนั้น…

จากตรงที่เราเองก็ไม่เคยเป็นช่าง ไม่รู้หรอกว่าอันนี้ทำได้ อันนั้นทำยาก หรือบางอันนั้นทำไม่ได้เลย ความรู้ด้านช่างของเราเท่าหางอึ่ง เท่าที่ทำได้ก็อาศัยถามคนอื่นบ้าง, ค้นคว้าเอาจากกูเกิลบ้าง, อาศัยออกไปดูงานคนอื่นบ้าง, ถ่ายภาพเก็บเอาไว้เพื่อที่จะได้กลับมาอธิบายกับช่างถูกบ้าง…

ถามว่าสนุกไหม? 

สนุกนะกับการได้ทำอะไรใหม่ ๆ แต่ก็มีความกังวลแอบซ่อนอยู่นิด ๆ ประมาณว่าเอ๊ะ! สีนี้มันแรงไปไหม, มันจะไปกันได้กับสีอื่นไหม, วัสดุที่ใช้เหมาะกับเนื้องานหรือยัง, อะไรประมาณเนี้ยะ 

แต่เชื่อไหมเมื่อถึงเวลา หลังจากที่เราค้นคว้าหาความรู้ ประกอบกับประสบการณ์ของช่างแล้วเอามาหารกัน ถึงเวลาคำตอบของมันจะมาเองว่าเราจะเอาแบบไหน เสน่ห์ของการทำบ้านมันคงอยู่ที่ตรงนี้มั้ง

อย่างตอนแรก ๆ เราบอกกับช่าง “คุณประยูร” ว่า อยากทำผนังแบบปูนขัดมันแล้วผสมสีฝุ่นสีเหลืองลงไป คุณประยูรทำหน้าปูเลี่ยน ๆ ถามคำถามแรกว่า 

“แน่ใจหรอ” 

พร้อมกันนั้นได้มีคำถามมาให้เราลองตอบมากมาย สรุปได้ใจความว่า

“งานแบบนี้มันงานศิลปะนี่น่า”

แหม คุณประยูรช่างสรุปได้เร็วดีแท้ ช่างยอมรับกับเราตรง ๆ ว่า พี่ชายของเราก็เคยพยายามจะลองทำมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่โครงการณ์ต้องพับไป เพราะทำออกมาแล้วไม่ได้อย่างที่ใจคิด แถมยังมีคำถามจากคุณประยูรว่า “ทำไมต้องปูนเปลือย”

ตอบไวเท่าความคิด ก็ศิลปะมักจะมาตอนที่เงินในกระเป๋าแฟบไงเล่า!!!

จริง ๆ แล้วงานปูนเปลือยกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ แต่ความนิยมในใจเรามันมีมาตั้งนานแล้ว เพราะรู้สึกว่าอารมณ์ปูนมันให้ความรู้สึกเรียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากดี แต่คุณประยูรโต้กลับว่า ช่างทำปูนเปลือยฝีมือดีหายาก 

บทเรียนบทที่หนึ่ง กำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง แม้ครั้งนี้จะโน้มน้าวช่างให้ทำปูนเปลือยผสมสีฝุ่นไม่ได้ แต่เรากำลังศึกษาคิดค้นหาทางให้ภาพที่อยู่ในหัวออกมาอยู่บนกำแพง ณ ที่ใดที่หนึ่งในไม่ช้านี้


อย่างที่บอก การเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดเวลาตราบที่ชีวิตเรายังเดินต่อ 


วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

อาจารย์เก่ง (ภาคต่อ)

อาจารย์เก่งชี้ชวนให้ดูเฝือกสีสดใสของเธอ


สติเท่านั้น จะทำให้เราผ่านมันไปได้

เป็นคำบอกเล่าของเพื่อนร่วมงานที่ชื่อ อาจารย์เก่งทิ้งเอาไว้ระหว่างการสัมภาษณ์ในวันสบาย ๆ ที่ห้องเรียนก่อนวันสิ้นปีเมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา สติมาพร้อมกับกำลังใจและการมองโลกในแง่ดีทำให้เธอ ผ่านช่วงความเป็นความตายมาได้แบบ คงจะให้หลายคนมานั่งเล่าเรื่องที่ตัวเองพบเจอ แบบยิ้มแย้มแจ่มใสคงจะหาได้ยากพอสมควร

หลังจากหอบผ้าหอบผ่อน ตัดสินใจกลับเมืองไทย โดยมี mission เดียวคือ อยากช่วยคนช่วงที่เมืองไทยโดนซึนามิถล่ม แล้วเธอก็ได้ไปเริ่มต้นที่เขาหลัก จังหวัดพังงา ทำงานเป็นอาสาสมัครช่วยเยียวยาจิตใจในเบื้องต้นก่อน โดยเธอถือคติว่า การสูญเสียครั้งนี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับทุกคน

และการบำรุงรักษาจิตใจ

จะทำให้พวกเขาเหล่านั้น

ผ่านเรื่องราวที่เหมือนฝันร้ายไปได้

ในขณะที่ลงไปคลุกคลีช่วยเหลืออยู่ได้เกือบปี อาจารย์เก่งไม่รู้ตัวเลยว่า เธอเองก็กำลังจะเจอบททดสอบชีวิตครั้งใหม่ที่กำลังคืบคลานเข้ามาหาตัวเธออย่างเงียบ ๆ และช้า ๆ

ตอนแรกก็ไม่ได้สนใจ นึกไปแค่ว่าตัวเองคงจะกินมาก และอ้วนเกินเหตุ จนทำให้เธอมีหน้าท้องที่ใหญ่เกินตัวอาจารย์เก่งยังคงเล่าให้เราฟังแบบยิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมกับโชว์ภาพประกอบบนผืนผ้าสไลด์ในห้องเรียน ในช่วงที่เธอต้องเข้าบำบัดและรักษาโรคมะเร็งรังไข่ด้วยวิธีคีโม ฯ อยู่ถึง 6 เดือน

การเข้าบำบัดรักษาครั้งนี้ เกิดขึ้นมาจากการเธอต้องเข้ามาเยี่ยมคุณแม่ ที่ยังคงอาศัยอยู่ในกรุงเทพ ฯ ทุกเดือน คุณแม่ช่วยเตือนเธอให้ลองไปให้คุณหมอที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เช็คดูอีกที แต่แล้วหลังจากการตรวจ เธอก็ออกมาบอกกับแม่ด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ ว่า

คุณหมอบอกว่าเก่งเป็นมะเร็ง

เธอเล่าต่อว่า เธอไม่ได้รู้สึกว่ามะเร็งเป็นโรคที่ร้ายแรง ที่รักษาให้หายขาดไม่ได้ ในขณะที่คุณแม่ของอาจารย์เก่ง แทบจะทรุดอยู่ตรงหน้าห้องตรวจ คนที่แข็งแรงกลับเป็นอาจารย์เก่งคนเดียวที่เหมือนจะส่งกำลังใจไปให้แม่เธอฟังว่า

แล้วเราก็คงจะผ่านมันไปได้เหมือนทุก ๆ ครั้ง

6 เดือนต่อมา คนไข้เก่ง (ที่เธอมักจะเน้นย้ำระหว่างการพูดคุยตลอดเวลาว่า เธอทำตัวไม่เหมือนคนป่วย) ออกจากโรงพยาบาล ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติ ได้เวลาต้องกลับไปเขาหลักทำงานอีกครั้ง เพื่อสานต่อเรื่องที่ยังทำไม่เสร็จให้มันสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

การกลับมาของเธอครั้งนี้ ทำท่าจะไปได้สวยอยู่สักพักใหญ่ และเธอเองก็ดูเหมือนจะพอใจกับชีวิตเรียบ ๆ ง่าย ๆ ในการได้ช่วยเหลือคน และยังได้แลกกับเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อทำให้ชีวิตจริงกับชีวิตอาสา ได้เดินไปด้วยตัวของมันได้แบบไม่เดือดร้อนใคร

จนกระทั่งวันหนึ่ง บททดสอบชีวิตชุดใหญ่ ก็จู่โจมเข้ามาจนเธอเองไม่รู้เนื้อรู้ตัวอีกครั้ง เมื่อเธอได้รับมอบหมายให้ไปรับเพื่อนฝึกงานในกลุ่มอาสาสมัครนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วระยะทางที่เธอขับรถใช้เวลาเพียงแค่ 10 นาที แต่มันเป็นเพียงแค่ 10 นาทีที่ทำให้ชีวิตของอาจารย์เก่งคนนี้ได้ทดสอบความเก่งอีกครั้ง

ใครที่ขับรถผ่านบนถนนเส้นนั้นในวันนั้น และถ้าได้เห็นสภาพรถที่กองอยู่ข้างทาง ต่างคนต้องพาส่ายหน้าว่าคนขับอย่างไรก็คงไม่มีทางรอด แต่เธอก็รอดมาได้ราวปาฏิหารย์ ในขณะที่เธอเล่าเรื่องราวให้พวกเราฟัง เธอก็ยังคงเน้นและย้ำว่าเธอเป็นคนโชคดีมาก ๆ เรานั่งนับคำว่า โชคดีที่เธอพูดให้เราฟังอย่างน้อย 30 ครั้งภายในระยะเวลาเพียงแค่ 60 นาที

จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ครั้งนั้น ถึงแม้ร่างกายของเธอจะบอบช้ำ และยังคงรอวันที่จะฟื้นกลับมาให้ได้ดีเหมือนเดิม แต่จิตใจของเธอกลับหมุนไปในทิศทางตรงกันข้าม จนเราอดคิดในใจไม่ได้ว่า

ผู้หญิงคนนี้ เก่งสมชื่อ

เธอบอกกับเราแค่สั้น ๆ ว่า แล้วเรื่องเหล่านี้มันก็จะผ่านไปเหมือนทุก ๆ ครั้ง ขอบคุณสำหรับบทสนทนาดี ๆ ที่ทำให้คนกลุ่มเล็ก ๆ ในห้องเรียนวันนั้นรู้สึกว่า ชีวิตนี้มันไม่มีอะไรเลวร้ายจนเกินไป ผ่านมาแล้วผ่านไป เชื่อว่าความรู้สึกที่เราถ่ายทอดให้กันในวันนั้น

เป็นเหมือนของขวัญที่ดีที่สุดในวันปีใหม่

เป็นเหมือนการเตือนในการเดินทุกย่างก้าวของชีวิต

ต้องไม่ประมาทและมีสติอยู่เสมอ