วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อาจารย์เก่ง

อาจารย์เก่ง เก่งสมชื่อ
ชีวิตของแต่ละคน ต่างมีแง่มุมและมิติที่แตกต่างกันไป ไม่เพียงแต่เราไม่อาจไปตัดสินชีวิตใครได้แล้ว เราอาจจะยังต้องเคารพสิทธิ์ในการใช้ชีวิตของคนนั้น ๆ ด้วย ความเหมือนในความต่าง และความต่างในความเหมือน
ต่างมีแง่มุมของมันจนยากจะอธิบาย
อะไรคือสิ่งที่ใช่, ไม่ใช่, ถูก,ไม่ถูก
หรือแม้แต่เราเองที่คิดไปว่า ชีวิตเรานั้นถ้าเปรียบเป็นเส้นกราฟ แล้วจะเป็นเส้นกราฟที่ตกขอบตลอดเวลา อันนั้นก็ยังไม่สามารถเอาความรู้สึกของเราไปตัดสินหรือนั่งในความรู้สึกของแต่ละคนได้ว่า ถ้าเป็นอีกคนหนึ่งที่เข้ามาสวมบทบาทเป็นชีวิตของเรา เขาอาจจะมีแง่มุมที่มองไปคนละทิศทางเดียวกับเรา ไอ้ที่เราว่าตกขอบอาจจะกลายเป็นกราฟชีวิตที่มันขึ้นจนสุดขอบอีกฟากหนึ่งต่างหาก
วันนี้ได้แง่คิดและมุมดี ๆ จากเพื่อนอาจารย์ที่เอแบคด้วยกัน จากการให้สัมภาษณ์เรื่องราวชีวิตส่วนตัวของเธอ อาจารย์เก่งเป็นผู้หญิงร่างเล็ก ผิวขาว บอบบาง มองเผิน ๆ ไม่รู้เลยว่าเธอได้ผ่านชีวิตอะไรมาบ้าง
จนกระทั่งในวันหนึ่ง เมื่อน้องตะโกนออกมาจากห้องน้ำว่า
นี่อาจารย์เก่งนี่
ตะโกนไม่ตะโกนเปล่า พร้อมกับหยิบนิตยสารเล่มนั้นออกมาให้อ่าน พร้อมกับเรื่องราวของผู้หญิงคนนี้ก็มาโลดแล่นอยู่ตรงหน้า นี่คือที่มาของการสัมภาษณ์ในวันนี้ เป็นบรรยากาศที่เราคุยกันในห้องเรียน ในวันสบาย ๆ วันหนึ่งก่อนสิ้นปี ไม่รู้ตัวมาก่อนเลยว่า แม้จะได้รับรู้เรื่องราวของเธอมาบ้างผ่านตัวหนังสือ แต่ก็ยังอดมีน้ำตารื้น ๆ ออกมาช่วงขณะที่เรามีเวลาคุยกันเพียงไม่ถึงชั่วโมง
อาจารย์เก่งเล่าให้ฟังว่า หลังจากจบการศึกษาปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา มีความคิดละล้าละลังว่าจะทำอะไรต่อ จะกลับเมืองไทยหรือหางานทำและเก็บเงินสักพักต่อดี เธอใช้เวลาคิดไม่นาน เมื่อภาพข่าวได้ถ่ายทอดเรื่องราวเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นที่เมืองไทยเมื่อ 7 ปีก่อน
เหตุการณ์ครั้งนั้นมาแบบไม่ทันตั้งตัวสำหรับหลายคนรวมทั้งตัวเธอด้วย และคงจะเป็นเวลาที่เธอเองก็ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวว่าจะต้องกลับบ้านเกิดเมืองนอนเสียที ด้วยความมุ่งมั่นอย่างเดียวคือ อยากกลับไปช่วยคนเหล่านั้น
กลับมาทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่า ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ อย่างเธอจะช่วยได้อย่างไร และจะเริ่มต้นการช่วยเหลือจากตรงไหน ตอนนั้นคิดเพียงแค่ว่ากลับมาก่อน แล้วค่อยว่ากัน
เธอกลับมาและได้รับการติดต่อโดยเพื่อนว่า มีกลุ่มอาสาสมัครปักหลักอยู่ที่เขาหลัก จังหวัดพังงา และยังต้องการความช่วยเหลืออีกมาก ณ เวลานั้น อาจารย์เก่งไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่า เก็บของใส่กระเป๋าและพร้อมออกเดินทาง (ด้วยเงินของเธอเอง) เพื่อไปยังที่สถานที่นั้นให้เร็วที่สุด
จากโครงการณ์ที่ก่อตั้งขึ้นมาด้วยแรงของอาสาสมัครล้วน ๆ เธอไม่รู้เลยว่า เธอยังคงต้องใช้ชีวิตที่นั่นอีกหลายปีต่อมา เพื่อให้โครงการณ์มันเดินไปด้วยตัวของมันเองได้ และบรรลุเป้าหมายในการส่งต่อความช่วยเหลือไปยังคนที่ประสบกับภัยสึนามิครั้งนี้
ในระหว่างทางของช่วงหลายปีที่เธอใช้ชีวิตอยู่ที่นั้น มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายกับชีวิตผู้หญิงคนนี้ แต่แปลกตรงที่เธอเล่าว่า เธอโชคดี เธอเน้นและพูดย้ำ ๆ บ่อย ๆ ว่าเธอโชคดี ทั้ง ๆ ที่ถ้าเป็นเราเองที่ต้องเจอเหตุการณ์แบบนั้น คงจะพูดไม่ออกหรือการสัมภาษณ์ในวันนี้คงจะไม่เกิดขึ้น เพราะเราเองอาจจะไม่มีเรี่ยวแรงพอที่จะมาตอกย้ำสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ไม่มีใครอยากจะเล่าเรื่องฝันร้ายซ้ำ ๆ
แต่ตรงกันข้าม อาจารย์เก่งเล่าด้วยท่าทางยิ้มแย้มแจ่มใส เหมือนอะไรที่เธอผ่านมาเป็นเรื่องขี้ผงสำหรับผู้หญิงตัวเล็ก ๆ อย่างเธอ (แต่ในความรู้สึกของเรา อาจารย์เก่งเป็นคนที่หัวใจสวยมากต่างหาก) เธอบอกเคล็ดลับกับเราไว้อย่างเดียวว่า
สติเท่านั้น จะทำให้เราผ่านมันไปได้
สติทำให้เธอผ่านเรื่องราวร้าย ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ขอต่อเป็นภาคสองของอาทิตย์หน้าแล้วกันนะคะ
ขอให้เรามีสติและใช้ชีวิตอย่างสุขสันต์ ในวันปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้
Merry Christmas and Have a happy New Year to you all.

วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

รถเต่าในความทรงจำ

ขอบคุณรูปจากแสน เพื่อนนิเทศ
เชื่อว่าทุกคนคงจะเคยมีความสุขกับโลกใบเก่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยเด็ก, เริ่มเข้าวัยรุ่น, วัยเรียน, รุ่นหลังเรียนจบใหม่ ๆ หรือแม้กระทั่งวัยทำงาน ความสุขของเราแต่ละคนคงต่างกันไปตามความนึกคิด และรสนิยมที่แตกต่างกัน
วันนี้เป็นวันดี ๆ อีกวันหนึ่ง ที่เราได้ย้อนตัวเองกลับไปในช่วงเวลาเหล่านั้น ผ่านรถโฟล์คเต่าเก่า ๆ ของเพื่อนเก่า ซึ่งได้ถือกำเนิดปีเดียวกันกับเราคือปี 1971 รถคันนี้นับรวมอายุได้ 40 ปีพอดี ๆ จะว่าเก่าก็เก่า จะว่าแก่ก็แก่ แต่มันเป็นแอนทีค คงจะประเมินค่าไม่ได้สำหรับคนนิยมของเก่า
จำได้ว่าสมัยเรียนจุฬา ฯ เราเอารถของป้ามาขับ เป็นรถโฟล์คเต่ารุ่นเดียวกัน ปีเดียวกันนี่แหละ  รถคันนี้มีตำนานความรักอบอวลเต็มไปหมด เพราะเป็นรถที่ป้ากับลุงซื้อมาในช่วงแต่งงานกัน เราเองถือวิสาสะช่วงที่ลุงซื้อรถใหม่ และป้ายังขับรถไม่เป็น เอามันเอามาวิ่งเล่น (และตาย) บนถนนได้อยู่หลายปี
ช่วงที่ขับตอนนั้น จากสามย่านถึงวิภาวดี รู้สึกว่าไม่ได้ไกลอะไรมากมาย เพราะรถยังไม่หนาแน่นเหมือนทุกวันนี้ แต่เป็นเพราะรถที่ค่อนข้างเอาใจยาก อยากวิ่งก็วิ่ง อยากจะดับก็ดับ (แบบไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า)
ยิ่งถนนวิภาวดีเมื่อ 20 ปีก่อน ยังเป็นถนนโล่ง ข้างทางบางช่วงยังเป็นทุ่งนาอยู่บ้าง และตึกรามบ้านช่องก็ยังบางตา และที่สำคัญในช่วงที่เทคโนโลยียังเข้ามาไม่ถึง ลืมคำว่าโทรศัพท์มือถือไปได้เลย ในกรณีที่รถเสียแล้วจะโทรหาใครเพื่อขอความช่วยเหลือ
เพราะฉะนั้น ตนจึงเป็นที่พึ่งแห่งตน
จำได้ว่า ทุกครั้งที่สตาร์ตรถออกจากบ้าน จะต้องภาวนากับตัวเองว่า ขออย่าให้ดับกลางสะพานเป็นพอ ไม่ได้ขอถึงขนาดไม่ให้เสียกลางทาง หรือทุกครั้งที่ขับออกจากจุฬา ก็จะขอแค่ว่าจะดับก็ขอให้ดับตรงช่วงที่มีคนเยอะหน่อย เพราะค่ำมืดบนถนนวิภาวดี มันเงียบเหงาวังเวงชอบกล
วันไหนฝนตกต้องเตรียมใจไว้ได้เลย
ว่ารถจะกลายเป็นอ่างปลาโดยธรรมชาติ
หลังจากญาติดีกันก็แล้ว (ด่ามันบ้างบางครั้ง) ก็เหมือนจะสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง เคยคิดสาปส่งว่าชาตินี้ขออย่าให้มาเจอกันอีกเลย แต่หลังจากปลดระวางมัน แล้วมาขับรถกลางเก่ากลางใหม่คันต่อมา แปลกแต่จริงเคยคิดถึงกลิ่นของรถเต่าอยู่บ่อย ๆ ถ้าใครขับรถยี่ห้อนี้จะรู้ว่า มันมีกลิ่นเฉพาะตัวโดยเฉพาะเวลาเราเปิดประตูเข้าไปนั่ง
วันนี้กลิ่นนั้นก็ยังอยู่
แม้จะไม่ใช่รถของป้า
และมันยังคงเข้ามากวนจิตใจพาตัวเองกลับไปในวันเวลาเก่า ๆ
ของบางอย่างกับคนบางคน ไม่ใช่เรื่องที่จะลืมกันง่าย ๆ แม้ว่าตัวเองจะบอกว่า ไม่เอาอีกแล้วรถโฟล์คเต่า แต่มีหลายครั้งที่เราแอบมองคนขับรถเต่า พร้อมกับบอกตัวเองว่า ถ้ามีโอกาสอยากจะกลับไปขับมันอีกสักครั้ง
ขอบคุณเพื่อนเก่าที่พาเรากลับไปช่วงในวันเวลาทั้งดีและไม่ดีเหล่านั้น
มันเป็นความทรงจำที่สนุก ทั้งสุขปนทุกข์ เพราะนึกถึงทีไรก็อดยิ้มไม่ได้สักที
ว่าแล้วเสียงป้าก็ลอยเข้ามาในหูแว่ว ๆ ว่า
วันนี้รถเสียอีกรึเปล่าลูก




วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Monday Disease


ภายใน 7 วันใน 1 อาทิตย์ของช่วงวัยทำงาน คงมีบางวันที่เป็นวันที่เราโปรดปรานมากที่สุด ในขณะที่ยังมีอีกบางวันที่เราไม่อยากให้มันมาถึงเลย หรือมาแล้วก็อยากให้วันนั้นผ่านไปเร็ว ๆ อย่างคืนวันอาทิตย์ที่เราคอยเฝ้าภาวนาให้มันผ่านไปอย่างช้า ๆ และในขณะเดียวกัน เราอยากจะไปหมุนเข็มนาฬิกาให้วันจันทร์ผ่านไปให้เร็วที่สุด
ตั้งชื่อให้อาการที่เกิดขึ้นแบบนี้ด้วยตัวเองว่า Monday disease…
เราเองเคยเป็นอาการแบบนี้บ่อย ๆ ไม่ใช่เพราะเป็นเช้าวันแรกที่ต้องไปทำงาน แต่เป็นเช้าวันแรกที่ต้องไปสอนหนังสือ การสอนหนังสือจะว่าไปจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ขึ้นอยู่กับว่าเรารู้สึกสนุกกับห้องเรียน, นักเรียน, และวิชาที่เราไปร่วมแชร์ประสบการณ์ด้วยขนาดไหน
แต่เพิ่งสังเกตหลังจากที่มีอาจารย์ที่โรงเรียนทักทายเมื่อวานนี้ว่า
ดูท่าทางอาจารย์มีความสุขจัง
เออ ใช่แฮ่ะ อาการ Monday disease หายไปไหนแบบไม่รู้ตัว จนแอบมาคุยกับตัวเองว่า คงเป็นเพราะเราได้ทำอะไรในสิ่งที่เรารักจริง ๆ เมื่อเรารักที่จะทำแล้วเราจะไม่รู้สึกเหนื่อยกับมัน แต่ความสุขมันจะเข้ามาแทนที่แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว
เทอมนี้ได้รับภารกิจสอนวิชา Magazine/Feature Writing ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่ตัวเองชอบ ไม่ได้มีความกล้าที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียน แต่กล้าที่จะเรียกตัวเองว่ารักที่จะเป็นคนเล่าเรื่องผ่านเรื่องราวตัวหนังสือ ไม่ได้อาจหาญว่าตัวเองเขียนหนังสือดี แต่ยังชอบและเข้าใจว่าตัวเองเป็นคนหลงใหลในตัวหนังสือ
อาการกังวลก่อนเข้าห้องสอนมาหายไปเมื่อไม่นานมานี้ อาจจะเป็นเพราะว่า เราเองไม่ได้มีความตั้งใจที่จะไปสอน แต่ตั้งใจที่จะเอาความรู้และประสบการณ์ที่ตัวเองมีไปแชร์ให้เด็ก ๆ ฟัง และเหมือนของขวัญล้ำค่ามากขึ้นไปอีก ที่เราได้มีโอกาสฟังนักเรียนร่วมเล่าเรื่องราวของเขาผ่านการพูดคุยไปด้วยกัน
เด็กชายต้า (บังเอิญชื่อเหมือนกัน) ยกมือขึ้นและถามด้วยน้ำเสียงแบบปนรำคาญประมาณว่า (หลังจากนั่งนิ่งฟังเล็คเชอร์ไปประมาณหนึ่ง)
ทำไมการเขียนเรื่องสักเรื่อง ต้องคิดอะไรมากมาย
แค่คิดอยากจะเขียนแล้วลงมือเลย ก็น่าจะพอแล้วนี่ครับอาจารย์
คำถามของเขาทำให้ทั้งห้องหันมามองเขาเป็นตาเดียว กะประมาณสายตาว่า
เออ ไอ้นี้มันกล้าดีเฟ้ย
หลังจากนั้น สายตาหลายคู่เบนกลับมาจับจ้องที่เรา พร้อมรอคอยการตอบกลับอย่างใจจดใจจ่อว่า อาจารย์จะว่าอย่างไรกับคำถามแบบขวานผ่าซากของเขาแบบนี้
อย่างแรก เราตอบไปว่า อาจารย์รู้สึกภูมิใจในความกล้าคิดกล้าถามของเด็กชายต้า
อย่างที่สอง ใช่ บางครั้งการเขียนไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความอยากที่จะเขียน
อย่างที่สาม ในบางมิติ บางทีการหาข้อมูลหรือการวางแผนในการเขียนก็ไม่ได้ทำให้เราเสียหน้าอะไร
และอย่างสุดท้าย คำถามของคุณในวันนี้ทำให้อาจารย์มีความสุขมาก



เหนื่อยแต่อิ่มใจ


ในช่วงภาวะวิกฤตน้ำท่วมที่เรากำลังรวมพลัง และเดินฝ่ามรสุมลูกนี้ไปด้วยกันอยู่ในขณะนี้ จะว่าไปก็มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นในสังคมไทยของเรา พอให้เราได้ชื่นใจในยามที่หลายคนกำลังเดือนร้อนกันอย่างน่าเห็นใจ
คำว่า จิตอาสาเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่นาน แต่ก็จะเหมือนเป็นคลื่นลูกใหม่ที่มาแรงและเร็ว มีหลายกลุ่มหลายฝ่ายผ่านทั้งองค์กรใหญ่ และสมัครพรรคพวกของตัวเอง เปลี่ยนวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้เป็นโอกาส ได้หยิบยื่นความช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่าที่จะทำได้
ใครมีเงิน ลงเงิน
ใครมีแรง ลงแรง
ใครไม่มีทั้งเงิน ไม่มีทั้งแรง ก็ส่งกำลังใจไปช่วย
ในมุมมืดย่อมมีแสงสว่างอยู่เสมอ เราว่ามันเป็นโอกาสที่ดีนะ ที่จะออกไปช่วยเหลือคนที่รับน้ำแทนเรา คิด ๆ ไปยังดีกว่าเอาเวลาไปตากแอร์เย็น ๆ ทุก ๆ เสาร์อาทิตย์ตามห้างสรรพสินค้าอีกนใครที่ได้ทำแล้วคงจะรู้ว่า การให้มันทั้งอิ่มและสุขใจมากกว่าการรับเป็นไหน ๆ
อย่าง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา เราพร้อมด้วยเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ชาวนิเทศ จุฬา ฯ ได้รวมตัวกันเฉพาะกิจ นำของออกไปช่วยเหลือคนถูกน้ำท่วมที่ลำลูกกา ปทุมธานี และอำเภอบางเลน นครปฐม ซึ่งใน 2 พื้นที่นี้ ได้รับการยืนยันจากทหารที่อยู่ในพื้นที่ว่า ชาวบ้านยังได้รับความเดือดร้อนอยู่มาก
และเมื่อไปแล้ว ก็เห็นว่าจริงโดยเฉพาะช่วงอาทิตย์แรก ที่เราเลือกไปลงยังพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพ ฯ ก่อน แถวลำลูกกาช่วงนั้น ชาวบ้านยังอยู่กันอย่างยากลำบาก สังเกตจากที่พวกเขายังเดินทางกันด้วยเรือ และโดยสารรถทหารกันเป็นส่วนใหญ่
แม้แต่พวกเราที่เข้าไปช่วยเหลือ ยังจำเป็นต้องโหลดของจากรถลงเรือพร้อม ๆ กับทีมทหาร ที่เรามาผนึกกำลังกัน เพื่อกระจายข้าวของเข้าไปยังพื้นที่ ๆ ความช่วยเหลือยังเข้าไปไม่ถึง
ถามว่าร้อนไหม? ร้อน
ถามว่าเหนื่อยไหม? เหนื่อย
ถามว่าลำบากไหม? ลำบาก
แต่ความร้อน ความเหนื่อย ความลำบาก มันไม่ได้มากไปกว่าความสุขใจที่ได้รับ อันนี้มันเทียบกันไม่ได้เลยจริง ๆ ใครจะว่าเราสร้างภาพอะไรก็ช่าง แต่อยากให้ลองหาโอกาสออกไปสัมผัสดู แล้วจะรู้ว่าความสุขของการให้มันสุดยอด
หลังจากผ่านไปอีก 1 อาทิตย์ ทีมเราตัดสินใจลงพื้นที่กันอีกครั้ง คราวนี้มาทางฝั่งโซนตะวันตกกันบ้าง เลือกลงแถวบางเลน นครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ น้ำท่วมมาก่อนพื้นที่อื่น และในขณะที่พื้นที่อื่น น้ำเริ่มจะลดระดับลงบ้าง แต่ระดับน้ำที่บางเลนยังไม่ลดลงเท่าที่ควร
คราวนี้เราเพิ่มทีมงานจาก 15 คนเป็น 30 คน ทริปนี้เราแบ่งกันออกเป็น 6 ทีมย่อย แจกจ่ายของออกไปทั้งทางเรือและทางน้ำ และด้วยความช่วยเหลือและประสานงานของทหารเช่นเคย ที่ทำให้ภารกิจของเราเสร็จสิ้นลงไปได้
ตอนแรกนึกว่าทริปบางเลนจะไม่หนักเท่าทริปลำลูกกา เพราะเข้าไปแจกของชั่วโมงกว่าก็ออกมารอที่วัด ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการรวมพล แต่งานมาหนักเอาช่วงบ่าย เมื่อพวกเราต้องลงพื้นที่เข้าไปทำความสะอาดให้โรงเรียน
คงจะเป็นเพราะน้ำที่ขังมานาน ประกอบกับอากาศที่ร้อนอบอ้าวช่วงบ่าย ทำให้พวกเราหลายคนถึงกับปาดเหงื่อไปตาม ๆ กัน เมื่อต้องเคลียร์โรงเรียนก่อนที่น้อง ๆ จะเปิดเทอม
เป็นงานที่หนักจริง เหนื่อยจริง แต่ก็มีความสุขใจจริงอีกเหมือนกัน

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อดทน


หลังกลับจากการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ รีบโยนกระเป๋าเข้าบ้าน รุ่งขึ้นได้ฤกษ์เป็นวันแรกที่ได้เดินทางเข้าพื้นที่ ๆ โดนน้ำท่วมในเขตสายไหม ซึ่งถูกประกาศเป็นหนึ่งในพื้นที่อพยพ ภารกิจในวันนั้นคือจะเอาอาหารเข้าไปให้คุณแม่, ช่วยเหลือลูกแมว 2 ตัว, และเข้าไปรับคนอีก 2 คน
เราออกจากบ้านกันตั้งแต่เช้า นัดเจอกันที่ศูนย์ลูกเรือของบริษัทการบินไทย แถวสนามบินสุวรรณภูมิ การเดินทางเข้าไปในพื้นที่ คงจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าขาดความช่วยเหลือจากชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนของลูกเรือ ซึ่งรวมตัวกันเพื่อออกไปช่วยเพื่อนลูกเรือด้วยกัน ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่ในตอนนี้
วันนั้นกลุ่มของเราเดินทางด้วยรถสิบล้อ และมีเรือยางเตรียมพร้อมอยู่ข้างหลัง ในกรณีที่ระดับน้ำสูงมาก จนรถไม่สามารถเข้าได้ อุปกรณ์เพียบพร้อมแบบนี้ เป็นเพราะภารกิจของเราในวันนั้น ไม่มีคำว่าเข้าไปไม่ได้ เพราะเราจำเป็นต้องส่งอาหารเข้าไป แมวที่กำลังรอพวกเราอยู่ และเพื่อนอีก 2 คนที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนักจนไม่สามารถอาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองได้แล้ว
บรรยากาศสองข้างทาง จากที่เราเคยเห็นถนนยาวสุดลูกหูลูกตา ตอนนี้ได้เปลี่ยนสภาพเป็นทุ่งน้ำเวิ้งว้าง มีผู้คนเดินลุยน้ำอยู่บ้าง คนส่วนใหญ่ต้องสัญจรไปมาด้วยรถบรรทุก เรือพายหรือไม่ก็เรือหางยาว มีชาวบ้านยืนอยู่ตามรายทาง
มีการตะโกนถามบ้างประปรายว่า
มีอาหารและน้ำเข้ามาบ้างหรือไม่
ได้ยินแล้วสะอึกและบางช่วงก็น้ำตาคลออย่างห้ามไม่ได้
วันนั้นกลุ่มของเราใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 10 ชั่วโมง ในการช่วยเหลือ 3 ครอบครัว เริ่มจากเดินทางเข้าไปเอาลูกแมวออกมา 2 ตัว ในหมู่บ้านที่เข้าไปยังไม่เลวร้ายจนเกินไปนัก เพราะมีการสูบน้ำออกจากพื้นที่อาศัยอย่างหนัก
แต่ข้างหน้าหมู่บ้านนั้นไม่ต้องพูดถึง น้ำลึกประมาณเอว แต่ยังเห็นคนเดินลุยน้ำอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะใช้เรือเป็นยานพาหนะมากกว่า ลูกแมว 2 ตัวออกมาด้วยสภาพตัวสั่น คงจะเป็นเพราะถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพังนานเกินไป แต่ทุกอย่างดูโอเคและอาจจะใช้เวลาสักหน่อยที่จะเยียวยาเจ้าแมวสองตัวนี้ ให้กลับมามีสภาพจิตใจที่แข็งแรงเหมือนเดิม
จากนั้นเราเดินทางต่อไปเอาอาหารให้คุณแม่ของน้อง แต่แถวเพิ่มสินมุ่งหน้าห้าแยกวัชรพล บางช่วงน้ำลึกเกินกว่าที่รถของเราจะเข้าไปได้ ต้องตัดสินใจกลางคันว่าต้องถอยรถกลับ แล้วอ้อมออกมาทางรามอินทราอีกครั้ง กลุ่มลูกเรือตัดสินใจไม่ใช้เรือในภารกิจครั้งนี้ เพราะว่าบางช่วงน้ำก็ไม่ลึกจนเกินไปนัก แต่เรามีข้าวของที่ต้องเข้าไปส่งหนักพอสมควร เพราะฉะนั้นจึงเป็นการตัดสินใจร่วมกัน ในการที่จะถอยหลังกลับ แล้วอ้อมรถมาอีกทางด้านหนึ่ง
แต่สภาพแถวถนนวัชรพลนั้น เรียกได้ว่าน้ำเต็มพื้นที่ บางช่วงลึกพอสมควร มีรถทหารและรถของเอกชนเข้ามาช่วยประชาชนแถวนั้นอยู่บ้าง พวกเราพยายามเข้าไปจนถึงที่หมาย ทั้ง ๆ ที่ระหว่างทาง หลายคนคงหายใจไม่ทั่วท้อง เพราะไม่แน่ใจว่ารถจะสามารถลุยเข้าไปได้หรือไม่
เสร็จสิ้นภารกิจวันนั้น ด้วยการไปรับลูกเรืออีก 2 คน ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำลึกที่สุด และแล้วด้วยความตั้งใจของทุกคน พวกเราทำภารกิจเสร็จสิ้นเมื่อตอนพระอาทิตย์กำลังจะตกดิน ภาพสะท้อนของดวงอาทิตย์สีส้มตีแผ่ออกไปทั่วท้องน้ำ ถ้าไม่ใช่เวลาที่ทุกคนกำลังเดือดร้อนอยู่ขณะนี้ คงจะทำให้เรารู้สึกว่า เป็นภาพที่สวยงามของธรรมชาติภาพหนึ่ง
อารมณ์นี้คงต้องยืมคำพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์มาใช้ว่า
พวกเราต้องอดทนนะ เพราะมีสิ่งสวยงามกำลังรอเราอยู่ข้างหน้า
อดทนแล้วมันจะผ่านไป เหมือนทุก ๆ เรื่องที่ผ่านมา

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บ้าน


เชื่อว่าใคร ๆ ก็รัก บ้านของตัวเองกันทั้งนั้น วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ทำให้หลายครอบครัว ไม่มีบ้านจะอยู่ หรือถึงมีก็ไม่สามารถอยู่ได้ ต้องอพยพออกจาก บ้านของตัวเอง คำว่าอพยพจากสิ่งที่ตัวเองรัก เป็นความรู้สึกที่ยากเกินคำบรรยาย
มาแอลเอได้เกือบหนึ่งเดือน ขณะที่ออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ได้คาดคิดว่า ภาวะน้ำท่วมจะยืดเยื้อ รุนแรง และเนิ่นนาน แต่เมื่อมาถึงที่นี่ ได้รับรู้และฟังข่าวทุกวัน เกี่ยวกับวิกฤตที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่ครั้งนี้ บางครั้งทำเอาเราเครียดและรู้สึกหดหู่ตามไปด้วย สงสัยว่าโซเชียลมีเดียได้ทำหน้าที่ของมันดีเกินไป จนทำให้การบริโภคข่าวสารอาจจะมากเกินความจำเป็น
พูดถึงคำว่าบ้าน เพราะดูเหมือนเรากำลังแชร์ความรู้สึกร่วมกันว่า ทุกคนต่างมีบ้านในฝัน หรืออย่างน้อยก็มีความฝันอยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง จะบ้านเล็กบ้านใหญ่คงไม่สำคัญเท่ากับเรามีที่ ๆ หนึ่งที่เราสามารถเรียกได้เต็มปากว่า บ้าน
ในหลายคืนที่ได้กลับมาอยู่แอลเอ เป็นความรู้สึกเหมือนตัวเองได้กลับบ้านจริง ๆ จะว่าไม่ใช่บ้านก็เหมือนเป็นบ้านไปแล้ว สำหรับคนที่มาอยู่ที่นี่เป็นระยะเวลาหลายสิบปี ความรู้สึกของการกลับมาครั้งนี้ยิ่งพิเศษเข้าไปใหญ่ เพราะวันนี้ครอบครัวเราได้มีบ้านเป็นของตัวเองจริง ๆ เสียที
ในบางค่ำคืน เรานอนลืมตา พาลทำให้คิดสงสัยว่า
นี่ครอบครัวเรามีบ้านเป็นของตัวเองจริง ๆ แล้วหรือ?  
ไม่น่าเชื่อ
มันเหมือนความฝัน
ในความคิดที่แล่นผ่านเข้ามาในหัวสมอง อยากจะวิ่งออกไปเคาะประตูห้องแม่ แล้วถามคำถามเดียวกันที่อยู่ในหัวว่า
แม่ ๆ เรามีบ้านที่นี่แล้วจริง ๆ หรือ
บ้านของเราไม่ได้หรูหรา และอาจจะไม่ได้สวยงามในสายตาของคนอื่น มันเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ และได้มาด้วยความยากลำบาก ตรากตรำทำงานเก็บหอมรอมริบมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาของครอบครัวของเรา
แต่ในความรู้สึกของตัวเอง
บ้านหลังนี้มันสวยงามมาก
วันนี้เขียนถึงบ้าน เพราะมีความรู้สึกว่า คงไม่มีที่ไหนที่เหมือนบ้านของเราเอง วันนี้ ขณะนี้พวกเราคนไทยหลายคนต้องหนีน้ำ และอพยพออกจากบ้านของตัวเอง ถึงวินาทีนี้คงต้องบอกได้คำเดียวว่า ขอให้อดทนแล้วเราจะก้าวผ่านเรื่องราวเลวร้ายเหล่านี้ไปด้วยกัน
มันคงเป็นเหมือนอีกเรื่องหนึ่ง ที่เข้ามาแล้วก็จะผ่านไป
ขณะนี้ที่กำลังปั่นต้นฉบับ เรากำลังเริ่มเก็บของเพื่อกลับบ้านที่เมืองไทยคืนนี้ เตรียมตัวเตรียมใจกลับไปเผชิญหน้ากับน้ำอย่างมีสติ และหลังจากอพยพครอบครัวของตัวเองเสร็จ (ถ้าจำเป็น) ถ้ามีโอกาสจะลองลงพื้นที่ เผื่ออาจจะมีแง่มุมดี ๆ มาเล่าให้ฟังในคอลัมน์นี้บ้าง   

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

น้ำท่วม (ภาคต่อ)

เครดิตรูปภาพจาก www.thaistartv.co.th

มีบ้าน แต่อยู่ไม่ได้
มีรถ แต่ขับไม่ได้
มีเงิน แต่ของไม่มีให้ซื้อ
และที่สำคัญ เรากำลังตกอยู่ในสภาพความหวาดกลัว ว่าน้ำจะมาท่วมบ้านเมื่อไหร่
นี่คือสภาพของเมืองไทยที่กำลังเกิดขึ้น ณ เวลานี้ ปีนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในปีที่น้ำท่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ชาวบ้านทั้งต่างจังหวัดและกรุงเทพ ฯ โดนกันทั่วทุกหัวระแหง เรียกได้ว่า ธรรมชาติกำลังเอาคืน แบบจัดหนักและจัดเต็ม
แต่แทนที่เราจะทนอยู่กับความหวาดกลัว ว่าน้ำจะมาเมื่อไหร่ มาแรงไหม และต้องอพยพอย่างไร เราลองใช้สติมาลองทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของน้ำกันดีกว่า
น้ำเป็นของเหลว มันต้องไหลไปที่ไหนสักที่ แม้ว่าเราจะสร้างสิ่งกีดขวาง เพื่อขัดขวางมันไม่ให้เข้ามา หรือพยายามจะเปลี่ยนทิศทางให้มันไปทางอื่น ความจริงหนึ่งอย่างที่เราต้องไม่ลืมก็คือ น้ำมันจะต้องหาทางไปของมันเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ทุกวันนี้เราจมอยู่กับข่าวสาร ปล่อยให้มันกรอกหูและสร้างความหวาดกลัวให้กับเรา หลายคนยอมรับว่าเครียดว่ากลัวไม่มีบ้านบ้านจะอยู่ รถจะจมไหม เป็นห่วงพ่อแม่ ไม่รู้จะต้องใช้เงินอีกเท่าไหร่นับต่อจากนี้ หรือแม้แต่ว่าวันนี้น้ำจะมาหรือยัง จะถึงคิวเราอพยพแล้วใช่ไหม
นี่คือข้อเสนอของประชาชนคนหนึ่ง
ในเมื่อน้ำมันต้องท่วม อยากให้รัฐบาลและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ออกมายอมรับและประกาศเตือนประชาชนให้ได้รู้และยอมรับกับสภาพที่เกิดขึ้น อย่าบอกว่าไม่ท่วม เราควมคุมได้ แต่จริง ๆ แล้วมันต้องท่วม นี่คือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับทุกพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดภาคเหนือไล่ลงมา
ตอนนี้เชื่อว่าพวกเราทุกคนไม่ต้องการอะไร
นอกจากความจริง
ถ้ามันจะท่วม ท่วมเมื่อไหร่
นานแค่ไหน
การซื้อเวลา หรือการขายผ้าเอาหน้ารอด ไม่มีประโยชน์อะไร มีแต่จะเสียกับเสีย อยากให้รัฐบาลลองหันกลับไปย้อนดูกับไม่กี่เดือนที่ผ่านมากับการบริหารประเทศของท่าน
และเมื่อเรายอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เมื่อนั้นเชื่อว่าสัญชาติญาณการเอาตัวรอดของทุกคนจะได้เอาออกมาใช้กันเต็มที่ ว่าเราจะกินจะอยู่จะใช้กันอย่างไร กับระยะเวลา (ที่รัฐบาลต้องบอกความจริง) ที่เราจะต้องตกอยู่ในภาวะน้ำท่วมบ้าน
ออกมายอมรับความจริง
และพูดความจริง
ณ เวลานี้กันดีกว่า

  

วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

น้ำท่วม


เครดิตรูปจากอุ๊บ เพื่อนนิเทศที่ช่วยลำเลียงของไปช่วยคนน้ำท่วมแถวจังหวัดอยุธยา

ต้องยอมรับว่าประเทศไทยกำลังตกอยู่ในช่วงวิกฤต โดยเฉพาะกรุงเทพ ฯ เพราะน้ำเหนือไหลบ่าเข้ามาจ่อล้อมรอบทุกมุมเมือง ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดปทุมธานี, นนทบุรี, หรือสมุทรปราการ คิดง่าย ๆ ตอนนี้เมืองกรุงเทพเหมือนไข่แดงที่มีน้ำล้อมเต็มไปหมด
มีลุ้นกันหลายที่ในวินาทีนี้ว่าจะท่วมหรือรอด!
อันนี้รวมถึงบ้านของเราเองด้วย ที่มีพำนักติดเลียบคลองประปา และบนถนนแจ้งวัฒนะ
รู้ว่าธรรมชาติคงกำลังจะเอาคืน กับสิ่งที่พวกเราเบียดเบียนเขามาตลอดหลายสิบปี ก่อนนั้นคนกรุงเทพ ฯ คงนึกไม่ออกว่า ชาวบ้านตามต่างจังหวัดเขาเดือดร้อนกันอย่างไร ที่ต้องเสียบ้านเป็นหลัง ๆ หรือต้องทนอยู่บนชั้นสองของบ้านนับเวลาเป็นเดือน ๆ
วันนี้ที่เราพูดกันหนาหู, หวาดกลัว, บางคนเป็นถึงนอนไม่หลับเพราะต้องคอยเฝ้าระดับน้ำ
เพราะน้ำมันใกล้ตัวเราเข้ามาขึ้นทุกที
แต่ไม่อยากให้พวกเราวิตกจนเกินไป ในความกังวลคงจะต้องมีเป็นธรรมดา แต่ขอให้กังวลอย่างมีสติ และเตรียมพร้อมรับมือกับมันเต็มกำลังที่เราจะมี อย่างน้อยที่สุดมันก็ทำให้เรารู้ว่า ถึงแม้โลกภายนอกของเราจะรับรู้มาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ประเทศของเราได้แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย หลายค่ายหลากสี
แต่วันนี้เรารวมใจเป็นหนึ่งเดียว
ผนึกกำลังเพื่อก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
ในวิกฤตย่อมมีโอกาส และสิ่งดี ๆ ที่เราไม่ควรมองข้าม อย่างน้อยในตอนนี้ คนไทยต้องสามัคคีและไม่ทิ้งกัน แล้วเราคงจะก้าวผ่านมันไปเหมือนวิกฤตทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา
ในช่วงที่น้ำกำลังจ่อเข้ากรุงเทพ ฯ สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดก็คือ ทำอะไรได้ก็ให้ทำไปก่อน เตรียมตัวให้พร้อม ถ้าจำเป็นต้องอพยพจากบ้านก็ต้องไป อันนี้ต้องทำใจไว้เลย ความเสียหายมันมีแน่ ๆ อยู่แล้ว แต่อยากให้คิดเสียว่า เงินทองของนอกกาย ให้เรารักษาชีวิตของเราไว้ก่อน ไม่ตายก็หาใหม่ได้
จริง ๆ แล้วถ้าจะมองในแง่ดี คนอื่นเขาเดือนร้อนเพราะน้ำท่วมมาไม่รู้กี่เดือนแล้ว เราคนกรุงเทพ ฯ จะท่วมบ้างก็คงไม่เป็นไรนัก คิดเสียว่าคนอื่นเขาเดือดร้อนกว่าเราตั้งเยอะ แล้วเราจะไปทุกข์ทำไม ถ้าน้ำมันจะท่วมก็ปล่อยมัน แล้วเราค่อยกลับมาซ่อมก็ได้
ขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ก็กำลังรอลุ้นว่าบ้านป๊าที่แถวคลองประปา กับบ้านพี่ชายตรงถนนแจ้งวัฒนะ จะรอดหรือไม่รอดเหมือนกัน เอาเป็นว่าส่งกำลังใจไปให้คนกรุงเทพ ฯ และทุกคนตอนนี้ที่กำลังเผชิญวิกฤตอยู่ในขณะนี้
อย่าลืมว่าเราต้องสู้
ไม่ท้อ
ที่สำคัญต้องมีสติ เกิดอะไรขึ้นมา คิดไปได้เลยว่าจะต้องทำอะไร 1…2…3…
มาถึงเวลานี้เชื่อว่าคนไทยในแอลเอทุกคน ร่วมเป็นกำลังใจให้ประเทศของเราก้าวผ่านวิกฤตน้ำหลากครั้งนี้ไปด้วยกัน

วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พอดี

เครดิตรูปจาก http://www.beautyfullallday.com/

ไม่ได้มานั่งบ่นเรื่องอ้วนให้ฟังหรอกนะคะ แต่ตอนนี้เวลาไปเดินตามห้างสรรพสินค้า หรือได้ยินโฆษณา (ไม่แน่ใจว่าชวนเชื่อรึเปล่า) จากทางทีวีที่กรอกใส่เราปาว ๆ ทุกวัน ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าหนุ่มสาวสมัยนี้เขาเป็นห่วงเรื่องความสวยความงามกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียด
ดูเอาจากคนใกล้ตัว ชักชวนกันกินโน่นกินนี่ เพื่อจะแลกกับความสุขเมื่อยืนอยู่บนเครื่องชั่งน้ำหนัก ไอ้เราก็บ้าตามเขาไปด้วย ลองกินเพราะด้วยความอยากรู้ เอาตัวเองเป็นหนูทดลองยาว่างั้นเถอะ เออ แล้วมันก็น้ำหนักลดลงจนได้นะ แต่ก็อย่างว่า ถ้าเราไม่ควบคุมอาหาร ยังขี้เกียจไปออกกำลังกาย ความอ้วนก็ยังตามตัวเรามาติด ๆ อยู่ดี
พอน้ำหนักลด คราวนี้กลับกลายเป็นทุกข์อย่างอื่น ประมาณว่าจะรักษาน้ำหนักตัวแบบนี้ไปได้นานอีกเท่าไหร่ หรือไม่ก็อยากจะลดน้ำหนักให้มันมากไปกว่านี้อีก นี่แหละทุกข์ของมนุษย์ (ที่ไม่มีอะไรจะทำ) อย่างเราโดยแท้
อย่างบ้านที่เราอยู่ก็เหมือนกัน วันดีคืนดีน้ำก็โผล่มาจากไหนไม่รู้ตรงพื้นบ้าน หาสาเหตุก็ไม่เจอ เดาเอาว่ามันชอบเป็นช่วงฝนตกหนัก ๆ แต่ต้นเหตุของน้ำที่ซึมเข้ามาในบ้านได้อย่างไรนี่อยากจะเดา เรียกช่างมาหลายหน เขาก็ได้แต่รับปากว่าจะมาดูให้ แต่ไม่เคยโผล่หน้ามาตามที่นัดกันเสียที
กับประตูอัตโนมัติหน้าบ้านก็เหมือนกัน มันจะเปิดจะปิดแบบตามใจฉัน บางทีเรากดปิด มันดันเปิด บางทีเรากดเปิด มันดันกดปิด จนเกือบจะชนท้ายรถหลายหน เพราะประตูอัตโนมัติที่นี่เขาไม่มีเซ็นเซอร์ ทำให้พาลนึกถึงบ้านที่มีเด็ก และมีประตูอัตโนมัติแบบนี้ นับว่าเป็นอันตรายมากถ้าลูกหลานเราบังเอิญไปยืนอยู่ตรงกลางระหว่างประตูที่กำลังจะปิดพอดี
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ของที่เราได้มานั้นมันไม่เคยพอดีหรือดีพอ เมื่ออยากได้ของบางอย่าง ไม่ได้มาก็ต้องไปขวนขวายหามาให้ได้ แต่พอไปหาซื้อมาเป็นเจ้าเข้าเจ้าของมัน นาน ๆ เข้าไปก็เป็นทุกข์ เพราะความต้องการของเรามันมีมากเกินความพอดี
ไอ้ตอนซื้อก็คิดแค่ว่าอยากได้ มันคงจะทำให้ชีวิตเราสบายขึ้นเยอะ คิดไปเป็นตุเป็นตะ แต่พอไป ๆ มา ๆ กลับกลายมาเป็นภาระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คิด ๆ ไปของแบบนี้มีหลายอย่างนะในชีวิตเรา
อย่างเช่น บ้าน, คอนโด, ตู้เย็น, เครื่องซักผ้า, คอมพิวเตอร์, ไอโฟน, ไอแพด ฯ ล ฯ
หลายอย่างในชีวิตของคนเรา มันเข้ามาคล้าย ๆ แบบนี้แหละ ยิ่งมีเยอะยิ่งเป็นภาระ เอาแบบไม่มีอะไรผูกขามาก นั่นนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เวลาจะไปจะได้ไม่ต้องทิ้งภาระให้คนข้างหลังมากนัก เอาให้ตัวเบา ๆ โล่ง ๆ เวลาจะเดินออกไปมันไม่ต้องออกแรงมากนัก
ที่เขียนแบบนี้ ไม่ใช่ว่าความอยากมี อยากได้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ความอยากเหล่านี้ ควรมีในปริมาณที่เหมาะสม และจะเหมาะสมอย่างไร อันนี้คงขึ้นอยู่กับแต่ละคน เอาเป็นว่าอะไรที่เกินกำลังเราไปมาก ก็ปล่อย ๆ มันไปเสียเถอะ ชีวิตเราเดินมาถึงทุกวันนี้ได้ ก็นับว่าดีเหลือเกินแล้ว
ว่าแต่อ่านบทความนี่จบ อย่าลืมมานั่งนึกกันนะคะว่า เรามีของอย่างว่าเยอะไหม?  

วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

คาราโอเกะ

เครดิตรูปจาก http://www.oknation.net/
เชื่อไหมว่าร้อยทั้งร้อย คงต้องมีอยู่วินาทีหนึ่งที่คนชอบร้องคาราโอเกะ จะต้องวาดภาพว่าตัวเองเป็นนักร้องชื่อดัง ไม่พี่ตูน บอดี้แสลมก็เป็นน้องดา เอ็นโดรฟิน ที่ได้มีโอกาสยืนร้องเพลงอยู่บนเวที
คาราโอเกะเหมือนเป็นส่วนที่มาเติมเต็มความฝันของคนธรรมดาอย่างเรา ๆ อย่างน้อยในช่วงหนึ่ง หรือในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก็สามารถเติมเต็มความฝันที่มันขาดหาย หรือในสิ่งไม่มีวันเป็นจริงไปได้
จึงไม่น่าแปลกใจ ที่หลายคนจะชอบร้องคาราโอเกะ
เป็นความบังเอิญที่เราได้มีโอกาสผ่านไปฟังคนชอบร้องคาราโอเกะ พาลให้นึกไปว่า ความฝันแบบนี้ซื้อหาได้ไม่ยาก และคงจะเป็นบางเหตุผลที่ทำให้คาราโอเกะฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง
ตอนที่เขาหรือเธอยืนอยู่บนเวที มือถือไมโครโฟน ปากขยับร้องตามเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บอกจังหวะให้ร้องตามอย่างช้า ๆ ประกอบกับมีไฟส่องหน้าอยู่บนเวทีเล็ก ๆ คงจะเป็นตอนนั้นเอง ที่ความฝันได้ออกมาเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก็เถอะ
อาทิตย์ก่อนไปนั่งร้านอาหารชานกรุง แล้วได้ฟังน้า ๆ ป้า ๆ ลุง ๆ ถ้ารวมอายุกันคงปาเข้าไปกว่าหลักพัน ได้มีโอกาสมาปล่อยลีลาบนเวทีเล็ก ๆ แล้วรู้สึกประทับใจ ประมาณว่าชนินทร์ นันทนาคร หรือ ศรีไสล ชาติวุฒิมาขับกล่อมเพลงให้ฟังอย่างไรอย่างนั้น
ยังต้องรวมถึง เวทีเต้นรำเล็ก ๆ หน้าเวที ซึ่งมีผู้คนแวะเวียนเข้ามาโชว์ลีลาไม่ซ้ำในแต่ละเพลง เรียกได้ว่าในวันนั้น เราเองก็ได้ย้อนเวลากลับไปหาพวกจังหวะรุมบ้า ชะช่าช่า หรือแทงโก้ที่ขาดหายไปจากวงจรชีวิตมานาน
รู้สึกเป็นสุนทรียภาพที่ไม่ได้เห็นบ่อยนักในชีวิตประจำวัน เพราะส่วนใหญ่จะเห็นแต่วัยรุ่นเต้นท่าทางแบบโดนน้ำร้อนลวกไปมามากกว่า วันนั้นถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งจากพี่ ๆ น้อง ๆ น้า ๆ ป้า ๆ ลุง ๆ ที่เราไม่รู้จักมาเต้นและร้องในจังหวะที่เราไม่ได้เห็นบ่อยนัก
และต้องขอบคุณคาราโอเกะ ที่อย่างน้อยมันทำให้ความฝันของใครหลายคนได้แสดงออกมาเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนกว่าครั้งไหน ๆ
เชื่อว่าทุกคนต่างมีความฝัน นอกจากการเป็นนักร้อง คงยังมีอีกหลายคนที่อยากเป็นโน่นอยากเป็นนี่ การมีความฝันเป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่ขึ้นอยู่กับความตั้งใจและโอกาสในการหยิบยื่น ที่จะเปลี่ยนความฝันเป็นความจริงได้หรือไม่มากกว่า
ขอเพียงแค่ตั้งใจ
และโอกาสที่หยิบยื่น
เชื่อว่าแค่สองสิ่งนี้ คงจะทำให้ความฝันของคนหลายคนไม่เป็นความฝันอีกต่อไป และเพียงแต่ถ้าเรามีโอกาสเป็นผู้หยิบยื่นคนนั้น คงจะมีอีกหลายคนในค่ำคืนนี้ ได้เห็นความฝันกลายเป็นความจริง และกำลังมายักย้ายส่ายสะโพกอยู่ตรงหน้า  

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

เพือนเก่า (อีกครั้ง)


เขาว่ากันว่า เพื่อนในวัยเด็ก ถ้าเราสามารถรักษาความสัมพันธ์จนพวกเราเติบโตไปด้วยกันได้ มิตรภาพที่เกิดขึ้นนั้นจะยั่งยืน และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ความรู้สึกที่มีอยู่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาที่ก้าวเดินของมันไปเรื่อย ๆ
เมื่ออาทิตย์ก่อน ได้มีโอกาสกลับไปเจอเพื่อนเก่า นัดเจอกันกลุ่มเล็ก ๆ ที่ร้านอาหารกลางเมือง ถึงแม้กับเพื่อนบางคน เราอาจไม่ได้สนิทด้วยมากนัก แต่ก็รู้สึกว่าเราเห็นเพื่อนคนนี้อยู่ตลอดเวลาในความทรงจำ หลับตาลองนึกภาพก็นึกออกว่า ตอนเด็กเพื่อนเป็นอย่างไร และอะไรที่เราจำเขาได้ ไม่ใช่ภาพที่เบลอ ๆ ในความรู้สึก
ถ้าเป็นก่อนนั้น เราเองคงตะขิดตะขวงใจไม่ใช่น้อย ที่จะกลับไปเจอเพื่อนเก่า ๆ ไม่ใช่ไม่อยากเจอ แต่ด้วยเหตุผลปนความไม่แน่ใจว่า เพื่อนยังเหมือนเดิมไหม เปลี่ยนแปลงไปมากขนาดไหน แล้วเราจะเอาอะไรไปให้เพื่อนฟังว่าเราทำอะไร อยู่ที่ไหน อย่างไร
เพราะความที่เราเป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง ไม่ถนัดทีจะไปเล่าอะไรให้ใครต่อใครฟังถึงเรื่องส่วนตัว แต่ทุกวันนี้คิดว่า ประตูหลายบานของตัวเองได้เปิดมากขึ้น มันเปิดตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่สามารถตอบได้ชัดเจน แต่คิดว่ามันคงค่อย ๆ เปิดทีละนิด เป็นการเปิดความคิดในการตัดสินใจจะลองใช้ชีวิตแบบใหม่ เติมเต็มความสุขให้กับตัวเองกับวันที่เหลืออยู่
แล้วก็รู้ว่าตัวเองตัดสินใจไม่ผิด
การเปิดทำให้ชีวิตทุกวันนี้ของเรามีความสุขขึ้นเยอะ
จริง ๆ แล้วไม่ใช่ว่าประตูหน้าต่างของเราจะเปิดอ้าไปเสียทุกบาน เพียงแต่มีข้อจำกัดกับชีวิตน้อยลง ลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยได้ทำดูบ้าง หรือถ้าได้ทำ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานเหลือเกินแล้ว
เรียกได้ว่า เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างโลกส่วนตัวกับโลกภายนอก มันเขยิบเข้ามาใกล้กันมากขึ้นหน่อย หรือบางทีก็หมุนมาทับกันบางช่วงเวลา เพียงแต่เราเลือกเพื่อนเลือกคนที่จะเข้ามาร่วมแชร์ชีวิตกับเรามากกว่า
คืนนั้นคืนที่นัดเจอกับเพื่อนสมัยเด็ก เราคุยแบบสัพเพเหระเรื่อยเปื่อย ต่างคนต่างแย่งกันคุยแบบไม่ต้องมีฟอร์ม มีความสุขจนรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วแบบไม่รู้ตัว เผลอแป๊บเดียวถึงเวลาต้องแยกย้ายกันกลับบ้านเสียแล้ว
ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่เวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ก็รู้สึกว่ามันมีค่านะในความรู้สึกของตัวเอง เราต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับบ้าน คิดกันเพียงแค่ว่า เดี๋ยวเราต้องมาเจอกันใหม่ในอีกไม่ช้า
มิตรภาพในวัยเด็กมันคงจะดีแบบนี้นี่เอง
ที่ ๆ มันคงอยู่แล้ว มันไม่มีวันหายไปง่าย ๆ
เชื่อว่าเราต่างคนต่างอยากจะหมุนนาฬิกา รอเวลาให้เราได้กลับมาเจอกันอีก ไม่มีใครตอบได้เหมือนกันจะเร็วหรือช้า รู้แต่ว่าคงมีสักวันที่เราจะได้กลับไปสนุกกันอีก
ประตูบางบานถ้าปิดอยู่ เราอาจจะไม่รู้ก็ได้ว่า โลกภายนอกเขาเป็นอย่างไร ถ้าลองเปิดออกมาดู หรือถ้าไม่แน่ใจก็ค่อย ๆ แง้มออกมาก่อนก็ได้ ประตูและหน้าต่างบางบาน อาจจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงดี ๆ ในชีวิตให้กับตัวเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้นประตูจะเปิดหรือจะปิด เราคนเดียวที่จะเป็นคนตัดสินใจหมุนลูกบิดออกไป (แบบช้า ๆ)  

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

อารมณ์

เครดิตรูปจาก http://www.ismikendra.com/

เขาเรียกเราว่าน้อง
ฟังดูแล้วทำให้รู้สึกว่านานเหลือเกินแล้ว ที่ไม่มีใครเรียกเราแบบนี้ ตอนแรกมีอาการขุ่นข้องใจ ว่าเฮ้ยเด็กรุ่นน้อง มีอาการปีนเกลียวรึเปล่า แต่โถ! มาคิดในแง่ดี แสดงว่าเรายังมีความเป็นเด็กในตัวเองอยู่ไม่น้อย
คิดได้แบบนั้น อาการขุ่นเคืองก็เหมือนจะหายเป็นปลิดทิ้ง
และก็มีอยู่วันหนึ่ง เราได้ขับรถในกรุงเทพ ฯ ที่ซึ่งขึ้นชื่อว่าหาที่จอดรถยากมาก แต่วันนั้นด้วยความรีบ เพราะกลัวจะไม่ทันนัด เลยขับรถเข้าไปจอดแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ โดยลืมเช็คไปว่า เขาคิดอัตราค่าจอดรถชั่วโมงละเท่าไร
แต่คิดในใจว่าคงไม่แพง และไม่นาน แค่คุยธุระเสร็จก็จะขับออกมาทันที
วันนั้นเสร็จธุระเรียบร้อยแล้ว ก็เลยขับรถออกมา โดนค่าจอดรถไปชั่วโมงละ 50 บาท เหมือนโดนโจรปล้นเงินไปตรงหน้าแบบดื้อ ๆ แถมน้องคนเก็บบัตรตอบกลับมาว่า
ถ้าพี่สแตมป์บัตรจอดรถ จะจ่ายแค่ชั่วโมงละ 20 บาท
ทันทีที่น้องคนนั้นบอก เราก็หันไปมองกระจกหลัง เตรียมตั้งลำกลับไปหาที่ปั๊มบัตรจอดรถดีกว่า แต่ด้วยความที่โชคไม่เข้าข้าง มีรถมาจอดรอออกอยู่ 2-3 คัน เลยหมดสิทธิ์ จำเป็นต้องจ่ายเงิน 50 บาทนั้นไปอย่างน่าเสียดาย
ไอ้ความที่มัน “50 บาท กับไอ้ที่เขาเรียกเราว่า น้องพาลทำให้หงุดหงิดใจอยู่ชั่วครู่ชั่วยาม ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก แต่ก็ยังพกพาอารมณ์แบบนั้นอยู่ในขณะที่เดิน หรือช่วงที่อยู่บนท้องถนน
ซึ่งตามหลักแล้ว เราควรจะปล่อยมันไป เดี๋ยวนี้เงิน 50 บาทในเมืองใหญ่ แทบจะมีมูลค่าน้อยมาก หรือการที่ใครมาเรียกเราว่าอะไรก็แล้วแต่ ไม่น่าจะให้มันมาเป็นอารมณ์ แต่ตัวเราเองต่างหาก ที่เก็บมันขึ้นมา เก็บมันมาคิด ทำให้อารมณ์ขุ่นมัวโดยไม่เห็นทางว่ามันจะเกิดประโยชน์กับใคร หรือแม้แต่ตัวเราเองทั้งสิ้น
การตรวจสอบอารมณ์จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่เสมอ
บางครั้งการเดินถอยหลังมาตั้งหลัก แทนที่จะเดินหน้าไปแบบไม่รู้ทิศรู้ทาง น่าจะดีกว่าเป็นไหน ๆ การถอยหลังไม่ได้หมายความว่า เราจะหยุดเดิน เพียงแต่เราเดินย่ำอยู่กับที่ก่อน หรือถอยหลังสัก 1-2 ก้าว แล้วค่อยเดินต่อ ทำให้ก้าวที่เดินต่อเป็นเรื่องของความมั่นคง
อย่างน้อยก็เป็นความมั่นคงทางอารมณ์
ที่สมัยนี้หาได้ยากเหลือเกิน
คนกรุงเทพ ฯ หงุดหงิดง่าย ขับรถไม่ถูกใจหน่อย ก็บีบแตรกันเสียงดังลั่น ดีไม่ดีเจอคนบ้า ๆ ลงมาขู่จะเอากันให้ถึงชีวิต ทั้ง ๆ ที่เถียงกันแค่ใครจะออกจะเข้าก่อนกันก็เท่านั้นเอง
ต้องใจเย็นลงอีกนิด ถือคติว่า ยิ้มกันวันละนิด จิตแจ่มใสดีกว่าเยอะเลย

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

ความสุข



ความสุขที่สุดในชีวิตคือ การที่ได้เรากินอิ่มนอนหลับ ได้ทำในสิ่งที่เรามีความสุขในระหว่างวัน วันนี้ขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับ รู้สึกว่ามันเป็นอีกวันหนึ่งที่เต็มอิ่มกับชีวิต เป็นความสุขที่เรียบง่าย หาได้ไม่ยาก ไม่ต้องใช้เงินอะไรมากมาย แค่ได้หลีกหนีไปจากชีวิตจำเจสักวันหนึ่ง แค่นี้ก็เป็นรางวัลให้กับชีวิต แบบใครจะเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม
วันนี้เริ่มต้นการเดินทางออกสำรวจกรุงเทพ ด้วยการทิ้งยานพาหนะไว้ที่บ้าน แล้วขึ้นรถลงเรือไปเดินเล่นชิลล์ ๆ แถววังหลัง ท่าเรือศิริราช ความตั้งใจอย่างแรกคือ อยากจะไปถวายพระพรพ่อหลวงของเราแบบใกล้ ๆ เหมือนกับคนอื่นเขาบ้าง และแล้วก็สมความตั้งใจ
ต่อมาเป็นความเพลิดเพลินจำเริญใจของตัวเองล้วน ๆ การเดินทางโดยใช้ยานพาหนะสาธารณะ ทำให้เราได้เห็นชีวิตที่เราอาจจะไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก ชีวิตของคนเก็บตั๋วบนเรือเมลล์ คนนั่งตกปลาบนสะพานที่กำลังชักเย่อสนุกกับเกมตรงหน้า จนลืมสนใจไทยมุงที่คอยให้กำลังใจอยู่ข้าง ๆ หรือแม้แต่ชีวิตคนขายของตามท่าเรือต่าง ๆ
ภาพเหล่านี้เป็นภาพที่เราเห็นได้ไม่บ่อยนัก ถ้าไม่ได้มีโอกาสแบบวันนี้ วันที่ตั้งใจจะเดินช็อปซื้อของเก่า หาของกินเล่นตามรายทาง และจบทริปสุดท้ายในวันนี้ด้วยการไปนั่งชมพระอาทิตย์ตกดินตรงข้ามวัดอรุณ ฯ
ช่วงนี้เป็นช่วงที่เมืองไทยเจอฝนกระหน่ำไปทั่วทุกภาค เรียกได้ว่าฝนตกแทบจะทุกวัน เราเลยเห็นภาพกระสอบทรายวางเรียงรายอยู่ตามท่าเรือต่าง ๆ สัมผัสได้กับความยากลำบากของคนขายของแถบนั้น แต่รอยยิ้มดูเหมือนจะไม่ได้เลือนหายไปจากใบหน้าคนเหล่านั้น
เมื่อชีวิตยังไม่สิ้น
ก็คงต้องดิ้นกันต่อไป
ดูเหมือนจะเป็นบทสรุปง่าย ๆ แบบนั้น
ทริปนี้จบท้ายด้วยการไปนั่งทานอาหารริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งตั้งอยู่บนพิกัดตรงข้ามกับวัดอรุณ ฯ เป๊ะ ช่วงที่ไปเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์กำลังจะลับฟ้า สีฟ้าปนสีส้มและสีขาวของเมฆตัดกับภาพของวัดอรุณ ฯ ช่างเป็นภาพที่ทำให้เรารู้สึกว่า ความสวยงามอยู่ใกล้แค่เอื้อมแค่นี้เอง ไม่เห็นต้องไปวิ่งหาให้เหนื่อยยากเลย
เมื่อดวงตะวันลับฟ้า พร้อมกับไวน์ที่หมดไปหนึ่งขวด คงได้เวลากลับบ้านเสียที วันนี้เราเดินออกมาจากตรอกกันแบบเงียบ ๆ ออกมาเรียกรถแท๊กซี่หน้าวัดโพธิ์ มุ่งหน้ากลับบ้านที่แจ้งวัฒนะ แบบคิดถึงเตียงนอนนุ่ม ๆ ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้
การเดินทางไม่จำเป็นต้องใช้เวลาหลาย ๆ วัน
แค่ได้ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงในหนึ่งวัน กับสิ่งที่เราไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำ
แค่นี้ก็คงทำให้เติมสีสันกับชีวิตจำเจของเราบ้างไม่มากก็น้อย
สุขสันต์ในวันธรรมดาแบบวันนี้ก็แล้วกันนะคะ


วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

บาหลี


เคยถามตัวเองว่า เราเองคงเป็นโรคประหลาด ไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่องเขาว่า ถ้าจะไปเที่ยวที่ไหน จะต้องกระตือรือร้นไปสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ๆ ของจุดหมายปลายทางนั้น ๆ อย่างไปเที่ยวครั้งล่าสุดที่บาหลี ก็แอบลดโปรแกรมทัวร์ตามวัดต่าง ๆ ออกไปมากกว่าครึ่ง
มาดี คนบาหลีที่เราจ้างมาเป็นคนขับรถและนำทางเราเที่ยวครั้งนี้ คงแอบดีใจเล็ก ๆ เหมือนกัน ว่าเขาจะได้ไม่ต้องเหนื่อยมากเมื่อเจอลูกทีมแบบเรา
การเดินทางครั้งนี้ 5 วัน 4 คืน ตอนแรกกะกันไว้ว่าจะแบ็คแพคไปกันสองคน แต่แล้วก็ต้องเปลี่ยนแผนกระทันหัน เพราะมีแม่เข้ามาร่วมแจม ไปกับผู้ใหญ่แบบนี้ เลยต้องปรับทริปเป็นแบบชิลล์ ๆ สบาย ๆ ดีกว่า
โดยทีมเราถือคติว่า เพื่อนร่วมทางนั้นสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นใครอยากจะทำอะไรทำ ไม่อยากไปเที่ยวตามโปรแกรม ก็พักผ่อนอยู่ในโรงแรม ไปกันแบบสบาย ๆ ใครอยากทำอะไรทำ ตามใจกันแบบนี้ใคร ๆ ก็ชอบ
จริง ๆ แล้วการพาแม่ไปครั้งนี้ ถือว่าเป็นการฉลองให้แม่ หลังจากคุณหมอคอนเฟิร์มว่า แม่ไม่ได้เป็นเนื้อร้ายอย่างที่สงสัยไว้ เพราะฉะนั้นการเดินทางของพวกเราครั้งนี้ ถือเป็นการไปเที่ยวแบบโล่งใจเป็นที่สุด
ใครที่เคยไปบาหลีแล้ว จะรู้ว่าสถานที่นี้เป็นสวรรค์ของคนที่รักศิลปะ ขับรถไปบนท้องถนนเกือบทุกที่ อย่างน้อยจะมีแกลลอรี่ภาพวาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง อวดโฉมให้เราได้เห็นตามรายทาง และเกือบจะตลอดทริปการเดินทางครั้งนี้
ความสุขของเราอยู่ตรงที่ ได้เห็นวิถีการใช้ชีวิตที่ผสมผสานระหว่างการเป็นเมืองท่องเที่ยว กับคนพื้นเมืองที่พยายามจะรักษาระยะห่าง ระหว่างวัฒนธรรมและความเชื่อของตัวเองเอาไว้ ทำให้เราได้เห็นภาพผู้หญิงบาหลีนุ่งผ้าโสร่งสีสด วางของสูง ๆ อยู่บนศีรษะขณะเดินออกจากวัด เดินเรียงแถวมาตามถนนหนทางอย่างเป็นระเบียบ
ภาพนี้ถ้าจะเปรียบ คงจะเป็นเหมือนออกซิเจนให้กับชีวิต ว่าเราสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยวิถีทางชีวิตของเราเอง แม้จะมีกระแสเชี่ยวกรากของการท่องเที่ยวเข้ามาเคาะประตูบ้านอยู่เป็นระยะ
ความสุขมันดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง
นอกจากศิลปะบาหลีที่ดูเมือนจะเป็นตัวชูโรงของการเดินทางครั้งนี้แล้ว เรายังมีโอกาสได้เห็นการทำนาแบบขั้นบันได ที่สวยสดงดงามเหมือนภาพวาดอย่างไรอย่างนั้น
และที่น่าประหลาดใจเป็นที่สุดก็คือ เขาสามารถทำนาขั้นบันไดติดกับโรงแรมหรือรีสอร์ท แบบที่เราเองผู้เป็นแขกไปเยือนก็ไม่ได้รู้สึกเก้อเขินแต่อย่างใด ที่มีชาวนามาปลักดำต้นกล้าอยู่ข้าง ๆ สระว่ายน้ำของโรงแรม
วันนั้นเราจบทริปด้วยการกินข้าวกันแบบบาหลีแท้ ๆ กลางทุ่งนา ภาพพระอาทิตย์สีส้มเหลืองกำลังจะตกดิน ตัดกับทุ่งนาสีเขียวขจี พร้อมกับลมพัดมาเอื่อย ๆ ให้ความรู้สึกสงบร่มเย็นกับเราอย่างมีความสุขที่สุดในค่ำคืนวันนั้น