เครดิตรูปจาก http://www.edwin.sjfc.edu/ |
ถ้าสังเกตดูให้ดี โลกใบนี้ของเรามีคนอยู่หลากหลายประเภท มีประวัติความเป็นมาและนิสัยที่แตกต่างกัน อันนี้ย่อมต่างไปตามพื้นฐานของครอบครัว วิธีการมองโลก การศึกษา หรือแม้กระทั่งประสบการณ์ชีวิตที่แต่ละคนเคยผ่านมา
แต่ถ้าแบ่งโดยวิธีการใช้เสียงเป็นหลัก จะมีคนอยู่สองประเภทใหญ่ ๆ คือ คนชอบพูดกับคนชอบฟัง ลองมองดูให้ลึกเข้าไปอีก ในคนเหล่านี้
มีหลายคนชอบพูดแต่ไม่ชอบฟัง…
และยังมีอีกหลายคนที่ชอบฟังมากกว่าพูด…
เริ่มต้นง่าย ๆ จากการเดินออกไปแค่นอกบ้าน อันนี้ยังไม่นับรวมถึงคนที่อยู่ในบ้านร่วมกัน ที่แต่ละคนย่อมมีนิสัยชอบฟังและชอบพูดไม่เหมือนกัน เริ่มจากเราต้องเดินเข้าไปทำงานร้านอาหารตัวเองทุกวัน ทันทีที่เท้าเหยียบเข้าไปในร้าน ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้กับเสียงจ้อกแจ้กจอแจทั้งของคนทำงานและลูกค้า
นี่มั้งคงเป็นที่มาของคำว่า “หูชา” กลับมาบ้านทุกครั้งไป…
อาทิตย์ก่อน จำได้ว่าเป็นวันเสาร์ ซึ่งปกติร้านอาหารวันเสาร์ที่นี่ถือเป็นวันชิลล์ ๆ วันหนึ่ง คือจะไม่ยุ่งมากแต่ก็จะไม่เงียบเหงาจนเกินไปนัก แต่เสาร์ที่ผ่านมาเป็นวันที่ผิดคาด เพราะลูกค้าเหมือนจะมายืนนัดรวมพลตั้งแต่ร้านยังไม่ทันเปิดดีด้วยซ้ำ มารู้เอาทีหลังว่าที่ยูซีแอลเอมีงานประมาณคืนสู่เหย้าอะไรทำนองนั้น
เราเข้าไปอีกทีคือเกือบ 6 โมงเย็น ถึงช่วงเวลานั้น ลองหลับตานึกภาพเสียงอึงอลปนอลหม่าน ลูกค้ายืนรออาหาร เสียงโทรศัพท์ดังแบบไม่ขาดสาย พนักงานรีบเก็บโต๊ะเพื่อต้อนรับลูกค้ารายใหม่ บรรยากาศในครัวยิ่งแล้วใหญ่
เพราะมันมีแต่เสียง เสียง และเสียง…
อันนี้เป็นเหตุที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับเสียงที่เกิดขึ้น เพราะอย่างน้อย “เสียง” ก็เป็นสื่ออย่างหนึ่งที่ทำให้เราสามารถสื่อสารกันรู้เรื่อง อาหารโต๊ะไหนยังไม่ได้ ออเดอร์เข้ามาผิดถูกอย่างไร แต่การที่เราพูดหรือแข่งกันพูด มันอาจจะไม่ได้มากับความรวดเร็วอย่างที่คาดหวังไว้
บางครั้งแทนที่เราจะพูด หรือใส่อารมณ์เข้าไปในงาน ลองหันกลับมาใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหวตามสุภาษิตจีนกันบ้างก็น่าจะดี ยิ่งช่วงที่ยุ่งที่สุด เราเองกลับเงียบที่สุดได้อย่างน่าประหลาดใจตัวเอง เพราะในความวุ่นวายนั้น อย่าลืมว่าเราต้องการใช้สมาธิอย่างสูง เพื่อที่จะให้อาหารออกไปเร็วที่สุด ดีที่สุด และถูกที่สุด
ทุกวันนี้เคล็ดลับง่าย ๆ ก่อนเข้าร้าน หรือเมื่อรู้ว่าจะต้องเข้าไปเผชิญกับเสียงเมื่อไหร่ จะต้องนั่งสวดมนต์ไปในรถโดยอัตโนมัติ บทสวดที่สวดประจำคือ อิติปิโส เท่าอายุบวกหนึ่ง ตามมาด้วยคาถาพระพิฆเณศ ค้นพบเอาเองว่า ถึงแม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่ทำให้ใจเรานิ่ง และพร้อมที่จะออกไปต่อสู้กับเสียงที่เข้ามากระทบทั้งหู ตา กาย ใจ และประสาทสัมผัส
ไม่มีใครบอกว่า คนพูดมากเป็นคนผิด และคนพูดน้อยเป็นคนถูก กับเรื่องบางอย่างในสถานการณ์นั้น ๆ เราต้องรู้จักใช้สมองและสติคิดให้ไวและจัดการกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
เขียนถึงโลกของเสียงในวันสุขสันต์แบบธรรมดา ๆ และขอสวัสดีปีใหม่ไทยมายังแฟนคอลัมน์ทุกท่านด้วยคะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น