ภายใน 7 วันใน 1 อาทิตย์ของช่วงวัยทำงาน คงมีบางวันที่เป็นวันที่เราโปรดปรานมากที่สุด ในขณะที่ยังมีอีกบางวันที่เราไม่อยากให้มันมาถึงเลย หรือมาแล้วก็อยากให้วันนั้นผ่านไปเร็ว ๆ อย่างคืนวันอาทิตย์ที่เราคอยเฝ้าภาวนาให้มันผ่านไปอย่างช้า ๆ และในขณะเดียวกัน เราอยากจะไปหมุนเข็มนาฬิกาให้วันจันทร์ผ่านไปให้เร็วที่สุด
ตั้งชื่อให้อาการที่เกิดขึ้นแบบนี้ด้วยตัวเองว่า Monday disease…
เราเองเคยเป็นอาการแบบนี้บ่อย ๆ ไม่ใช่เพราะเป็นเช้าวันแรกที่ต้องไปทำงาน แต่เป็นเช้าวันแรกที่ต้องไปสอนหนังสือ การสอนหนังสือจะว่าไปจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ขึ้นอยู่กับว่าเรารู้สึกสนุกกับห้องเรียน, นักเรียน, และวิชาที่เราไปร่วมแชร์ประสบการณ์ด้วยขนาดไหน
แต่เพิ่งสังเกตหลังจากที่มีอาจารย์ที่โรงเรียนทักทายเมื่อวานนี้ว่า
“ดูท่าทางอาจารย์มีความสุขจัง”
เออ ใช่แฮ่ะ อาการ Monday disease หายไปไหนแบบไม่รู้ตัว จนแอบมาคุยกับตัวเองว่า คงเป็นเพราะเราได้ทำอะไรในสิ่งที่เรารักจริง ๆ เมื่อเรารักที่จะทำแล้วเราจะไม่รู้สึกเหนื่อยกับมัน แต่ความสุขมันจะเข้ามาแทนที่แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว
เทอมนี้ได้รับภารกิจสอนวิชา Magazine/Feature Writing ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่ตัวเองชอบ ไม่ได้มีความกล้าที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียน แต่กล้าที่จะเรียกตัวเองว่ารักที่จะเป็นคนเล่าเรื่องผ่านเรื่องราวตัวหนังสือ ไม่ได้อาจหาญว่าตัวเองเขียนหนังสือดี แต่ยังชอบและเข้าใจว่าตัวเองเป็นคนหลงใหลในตัวหนังสือ
อาการกังวลก่อนเข้าห้องสอนมาหายไปเมื่อไม่นานมานี้ อาจจะเป็นเพราะว่า เราเองไม่ได้มีความตั้งใจที่จะไปสอน แต่ตั้งใจที่จะเอาความรู้และประสบการณ์ที่ตัวเองมีไปแชร์ให้เด็ก ๆ ฟัง และเหมือนของขวัญล้ำค่ามากขึ้นไปอีก ที่เราได้มีโอกาสฟังนักเรียนร่วมเล่าเรื่องราวของเขาผ่านการพูดคุยไปด้วยกัน
เด็กชายต้า (บังเอิญชื่อเหมือนกัน) ยกมือขึ้นและถามด้วยน้ำเสียงแบบปนรำคาญประมาณว่า (หลังจากนั่งนิ่งฟังเล็คเชอร์ไปประมาณหนึ่ง)
“ทำไมการเขียนเรื่องสักเรื่อง ต้องคิดอะไรมากมาย
แค่คิดอยากจะเขียนแล้วลงมือเลย ก็น่าจะพอแล้วนี่ครับอาจารย์”
คำถามของเขาทำให้ทั้งห้องหันมามองเขาเป็นตาเดียว กะประมาณสายตาว่า
“เออ ไอ้นี้มันกล้าดีเฟ้ย”
หลังจากนั้น สายตาหลายคู่เบนกลับมาจับจ้องที่เรา พร้อมรอคอยการตอบกลับอย่างใจจดใจจ่อว่า อาจารย์จะว่าอย่างไรกับคำถามแบบขวานผ่าซากของเขาแบบนี้
อย่างแรก เราตอบไปว่า อาจารย์รู้สึกภูมิใจในความกล้าคิดกล้าถามของเด็กชายต้า
อย่างที่สอง ใช่ บางครั้งการเขียนไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความอยากที่จะเขียน
อย่างที่สาม ในบางมิติ บางทีการหาข้อมูลหรือการวางแผนในการเขียนก็ไม่ได้ทำให้เราเสียหน้าอะไร
และอย่างสุดท้าย คำถามของคุณในวันนี้ทำให้อาจารย์มีความสุขมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น