วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

ครูต้นแบบ



รากฐานของการพัฒนาประเทศ ล้วนเกิดมาจากการศึกษาของคนในชาติแทบทั้งนั้น สมการหลักของการศึกษาก็น่าจะแบ่งออกเป็น 3 กลไกหลัก ๆ คือ หนึ่ง นักเรียน, สอง ครูบาอาจารย์, และสาม นโยบายการศึกษาของรัฐบาล

เคยผ่านชีวิตการเป็นนักเรียนมาแล้ว ประสบการณ์บอกว่ามีครูอยู่ไม่กี่คน ที่ถือว่าเป็นครูที่เป็นครู ทั้งสอนทั้งเข้าใจในสิ่งที่เราคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนในห้องเรียน หรือกิจกรรมนอกห้องเรียน มาวันนี้ได้เป็นครูกับเขาบ้าง ก็พยายามที่จะสอนให้เด็กได้สนุกกับการเรียน ไม่ซีเรียสหรือไม่เข้มจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้ปล่อยจนทำให้เด็กเดินออกไปนอกห้องเรียนด้วยหัวสมองที่ว่างเปล่า

ถ้าจะถามว่าใครเป็นคุณครูฮีโร่ และเป็นต้นแบบที่อยู่ในใจเรามาตลอด คงจะตอบได้ทันทีว่าครูนั้นชื่อ ครูคีตติ้ง เป็นครูที่ไม่ได้มีอยู่ในชีวิตจริง แต่กลับไปมีบทบาทในแผ่นฟิล์มเรื่อง Dead Poet Society เป็นหนังที่ Robin Williamsแสดงเป็นมิสเตอร์คีตติ้งของเด็ก ๆ หนังเรื่องนี้ถ้าให้เดาน่าจะเป็นหนังเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ถ้าใครยังไม่ได้ดู ขอแนะนำเลย โดยเฉพาะคนที่เป็นครูบาอาจารย์ว่าเราจะเข้าใจและเรียนรู้ไปกับเด็กได้อย่างไร

จริง ๆ แล้วคงจะมีหนังในดวงใจไม่กี่เรื่อง ที่เราสามารถดูย้อนซ้ำได้บ่อย ๆ แต่แปลกหนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนั้น เพราะดูทีไรรู้สึกว่าอิ่มเอิบใจไปเสียทุกครั้งไป คงจะเป็นเรื่องของการอิ่มใจไปกับบทภาพยนตร์, นักแสดง, และคำพูดที่ถ่ายทอดออกมาผ่านตัวละครทุกตัวจากมุมมองของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ยังจำคำพูดบางคำที่ดูเหมือนจะเข้ามีอิทธิพลกับการใช้ชีวิตของเราจนถึงปัจจุบันนี้ไม่มากก็น้อย อย่างเช่นตอนที่ครูคีตติ้งสอนเด็กในห้องเรียนเกี่ยวกับวิชากวีว่า

"We don't read and write poetry because it's cute.
 We read and write poetry because we are members of the human race.
 And the human race is filled with passion.
 And medicine, law, business, engineering, 
 these are noble pursuits and necessary to sustain life.
 But poetry, beauty, romance, love, these are what we stay alive for.

ทุกวันนี้บทบาทชีวิตของตัวเองที่เปลี่ยนไป ได้จับพลัดจับผลูเป็นครูบาอาจารย์กับเขาบ้าง จะรู้สึกดีใจทุกครั้งถ้าเด็กรู้สึกสนุกกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในห้องเรียน หรือบางวันก็รู้สึกแย่ถ้าวันนั้นรู้สึกเด็กไม่แฮปปี้กับสิ่งที่เราคุยกันในห้องความรู้สึกแบบนี้คงมีเด็กคนไหนกล้าเดินเข้ามาบอก แต่สิ่งเหล่านี้เราสามารถรู้สึกมันได้เอง
พยายามบอกกับนักเรียนตัวเองอยู่เสมอว่า อยากจะทำอะไร อยากจะเรียนอะไร ขอให้บอกอาจารย์ ๆ จะพยายามทำให้พวกเรามีความสุขทุกครั้งที่เราได้เจอกัน เป็นการแบ่งปันความรู้และได้เรียนรู้ทั้งจากครูสู่นักเรียน และจากนักเรียนสู่ครู เชื่อว่าไม่มีใครรู้เรื่องไปหมดเสียทุกอย่าง บอกกับนักเรียนตลอดว่า ถ้าอาจารย์ไม่รู้ อาจารย์จะไปค้นคว้าหามาให้
และสิ่งที่ย้ำและเน้นอยู่เสมอว่า อย่าไปซีเรียสจริงจังกับเล็คเชอร์มากนัก หรืออย่าใช้เวลาทั้งวันกับการอ่านหนังสือเรียน โลกข้างนอกยังมีอะไรให้เราเรียนรู้อีกเยอะ การได้ออกไปเที่ยว, การได้เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ, หรือแม้กระทั่งการใช้เวลาอยู่กับกิจกรรมน้อกห้องเรียน สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นครูในชีวิตของเราทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจะพยายามสอนให้เขาแบ่งเวลาให้เป็น บาลานซ์ชีวิตตัวเองให้ได้ แล้วทุกอย่างก็จะเดินไปตามจังหวะของมัน
เขียนบทความชิ้นนี้ในวันที่ 16 มกราคม ซึ่งถือเป็นวันครูของประเทศไทย แล้วอยู่ดี ๆ ก็นึกถึงหนังเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ ว่าแล้วคงไปค้นกรุหนังเก่ามาเปิดดูอีกรอบ เพราะดูเหมือนเสียงบทสุดท้ายของตอนจบจะดังกึกก้องสะท้อนอยู่ในความทรงจำไปมา ตอนที่นักเรียนต่างยืนขึ้นบนโต๊ะเพื่อแสดงความเคารพครูคีตติ้งครั้งสุดท้ายว่า
“O captain, my captain”
ส่งความปรารถนาดีมาให้ในวันครูนี้ด้วยคะ สำหรับทุกคนที่กำลังสนุกสนานกับการเรียนรู้ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น