วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความอยาก

เครดิตรูปจาก www.postjung.com

ขึ้นชื่อว่า คนเชื่อว่าคนเรามีความอยากได้ อยากมี อยากเป็นกันทุกคน ไม่เชื่อลองหยิบกระดาษ จับปากกา มาเขียนเป็นข้อ ๆ อะไรที่เราอยากได้ รับรองว่าเราจะต้องแปลกใจ เพราะมีลีสต์ยาวเป็นหางว่าว
ลองนึกดูซิว่าความอยากแบบคนธรรมดามีอะไรบ้าง?
รถยนต์ดี ๆ สักคัน
บ้านใหญ่ ๆ สักหลัง
เงินทองกองโต ๆ ฝากอยู่ที่ธนาคารเยอะ ๆ
คนรักดี ๆ สักคน ครอบครัวที่อบอุ่น เพื่อนที่อยู่เคียงข้างเราตลอดเวลา
อยาก อยาก และอยาก
ความอยากน่ะเป็นเรื่องธรรมดา ทำไมคนเราจะมีความฝัน อยากเป็นนั่น นี่ โน่นบ้างไม่ได้เลยหรือ? แต่ถ้าความอยากมันมากเกินลิมิต นั่นอาจจะหมายความว่า ตัวเราเองอาจจะต้องเป็นทาสรับใช้ความอยากอย่างไม่รู้ตัว ในความอยากนั้น อาจจะมาพร้อมกับความทรมาน เหมือนคนเดินขึ้นเขาไปเรื่อย ๆ พอได้สิ่งนั้นแล้วก็วิ่งไปหาสิ่งอื่นต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันหยุด
ความอยากแบบนี้มันเหนื่อยว่าไหม?
เคยเห็นหลายคนกำลังหมุนวนกับความอยากเหล่านี้ แต่คิดในทางกลับกัน เขาเหล่านั้นก็คงมองเราเป็นตัวประหลาด ที่ความทะยานอยากมันน้อยเกินไปหรือเปล่า? จริง ๆ ไม่ใช่ตัวเองไม่เคยอยาก เคยผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาแล้ว และรู้สึกว่าตัวเองเหนื่อยและทรมานมาก
จำได้ว่าเคยเหนื่อยที่จะต้องวิ่งตามความคาดหวังของคนอื่น เกิดมาแบบนี้ต้องเป็นแบบนี้ จะเป็นแบบอื่นไปไม่ได้ ตอนนั้นเหมือนหนูถีบจักร ปั่นไปเรื่อย ๆ เมื่อยก็เมื่อย แต่หยุดปั่นไม่ได้
จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อเราได้เริ่มวิ่งช้าลง ดูเพื่อนที่เดินอยู่ข้าง ๆ แล้วก็เกิดความคิดปิ๊งขึ้นมาเหมือนยูเรก้า เออ! ทำไมมันก็ยังมีความสุขกับมันได้ โดยการเป็นตัวของตัวเอง แต่ไม่เบียดเบียนและทำความเดือดร้อนให้ใคร
แล้วเพื่อนคนนั้นมันก็อยู่ได้ และอยู่ได้ดีเสียด้วย
การเรียนรู้เลยเริ่มจากตรงนั้น
อยากได้ อยากมี อยากเป็น
ต้องเอาให้มันพอดี
และถ้าใจมันอยากมากนัก ก็ให้มันอยากแบบมีสติ จะได้ไม่ต้องเดือดร้อนทรมานสังขารทั้งร่างกายและจิตใจตัวเอง 
  


วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

รอยยิ้มกับความคิด

ปลาฉลามตายเรียงราย ก่อนจะเปลี่ยนขึ้นมาเป็นอาหารขึ้นชื่อบนโต๊ะ
เครดิตรูปจาก http://www.postjung.com/

วันนี้มีคนชวนไปกินหูฉลาม ได้ยินแล้วก็ได้แต่เบ้หน้า และถ้าไม่รักกันจริงคงปฏิเสธไปแล้ว เพราะตั้งใจเลิกกินอาหารประเภทนี้มาหลายสิบปี แค่รู้สึกว่าความเอร็ดอร่อยของเรา ต้องเป็นการเบียดเบียนอีกชีวิตหนึ่งจนเกินไปหรือเปล่า
เพราะถือคติว่าไม่มีดีมานด์ ย่อมไม่มีซัพพลาย ถ้าเราเลิกกิน นั่นหมายถึงดีมานด์ได้หายไปหนึ่ง รู้ว่าไม่สามารถไปห้ามใครไม่ให้คิดแบบนี้ได้ แต่คิดแค่ว่าเราต้องเริ่มต้นจากตัวเองก่อน แต่การไปวันนี้ไม่เสียหาย (เปล่า! ไม่ได้กินหูฉลามอย่างที่ตั้งใจไว้)
ที่ว่าไม่ได้เสียหาย เพราะได้ข้อคิดอะไรดี ๆ กลับไปนอนอมยิ้มที่บ้านแบบไม่ได้ตั้งใจ
คนหนึ่งคน เรื่องหนึ่งเรื่อง เราอาจจะได้รับฟังกันคนละแบบ เป็นเรื่องของต่างคนต่างมองกันคนละมุม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ
วันนี้ได้คุยกับอาเจ๊เจ้าของร้านหูฉลามเล็ก ๆ ในตึกแถวคูหาเดียว มิตรภาพเกิดขึ้นง่าย ๆ เมื่อเรามองไปที่หัวไชเท้าทอดกับเป๊าะเปี๊ยะทอด เป็นอาหารที่แกกำลังนั่งละเลียดอยู่อีกโต๊ะหนึ่ง มองไปเห็นแล้วรีบสั่งบ๋อยว่าเอาแบบนี้หนึ่งจาน บ๋อยรีบตอบว่าไม่มีในเมนู เพราะเป็นอาหารของเจ้าของร้าน
แต่แกคงได้ยิน สักพักแกให้บ๋อยเดินถือจานที่มีอาหารอย่างที่เราอยากจะสั่งเมื่อกี้มาให้ แถมบอกว่าอาเจ๊เอามาให้ลองชิม แล้วบทสนทนาดี ๆ ก็เริ่มต้นจากตรงนั้น
แกเล่าให้ฟังว่า แกกินอาหารประเภทนี้แล้วนึกถึงวันเก่า ๆ เมื่อวันที่แกต้องเลี้ยงลูกหลายคน และยังไม่มีเงินพอที่จะซื้อหมูเห็ดเป็ดไก่ให้ลูกกินได้ทุกวัน อาหารแป้ง ๆ ทอด ๆ ประเภทนี้สามารถทำให้ท้องของลูก ๆ แกอิ่ม จนมาถึงวันนี้แกก็เลยติดที่จะกินอาหารประเภทเดิม เพียงเพราะมันจะช่วยย้อนแกกลับไปในช่วงเวลาเก่า ๆ ดี ๆ กับลูก ๆ
มาวันนี้อาเจ๊ได้เป็นเจ้าของร้านหูฉลาม ต้อนรับขับสู้ลูกค้ามานานหลายสิบปี แกเหลือบมองมาที่โต๊ะอาหารเรา และแน่นอนว่าแกจะต้องเจอเจ้าซุปหูฉลามมีชื่อของทางร้านตั้งอยู่ อาเจ๊เล่าให้ฟังว่าแกไม่ได้กินมานานมากแล้ว เพราะแค่มองหรือได้กลิ่นก็รู้สึกเบื่อเหลือเกิน
อาเจ๊เล่าต่อแบบคงไม่มีใครผ่านมาให้นั่งคุยกันบ่อย ๆ ว่า มีลูกค้าประจำหลายคนต้องแวะเวียนมากินหูฉลามที่นี่ทุกเย็น (เราแอบคิดไม่ได้ว่า มันต้องสังเวยด้วยฉลามกี่ตัว) แกบอกลูกค้าตรง ๆ ว่าไม่ต้องมากินทุกวันก็ได้ กลับบ้านไปนั่งกินน้ำพริกกับผักต้มบ้าง เพราะกินหูฉลามทุกวันมันแพง
บ่น ๆ ประมาณว่า ลื้อจากินอาไรกันทู้กวันว้า
ฟังแล้ว เราแอบอมยิ้ม!
เราเลยชวนคุยถึงสภาพเศรษฐกิจทั่ว ๆ ไปว่าร้านแกขายเป็นอย่างไรบ้าง อาเจ๊เล่าให้ฟังอย่างเปิดเผยว่า กิจการที่ผ่านมาไม่ค่อยดี แต่แกก็มองไปว่าเท่าไหร่ก็เท่านั้นแหละ อย่าไปเครียดกับมัน ทำทุกวันให้มันผ่านไปให้ดีที่สุดดีกว่า
คำพูดเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นคำพูดที่บอกเล่าให้เราฟัง มันยังเป็นคำพูดที่ไว้ใช้ปลอบสามีของอาเจ๊ที่ดูเหมือนจะทำใจไม่ได้กับรายรับที่ลดน้อยลง สามีแกเครียดมากจนกระทั่งล้มป่วยลง
จะคิดอะไรให้มันมาก เรามีหน้าที่ขายก็ขายไป ทำให้ดีที่สุดก็แล้วกัน
อืม! จริงซิ คนเรามีหน้าที่อะไรก็ทำไป วันเลวร้ายที่ผ่านเข้ามา สักวันมันก็ต้องผ่านไป เหมือนกับวันดี ๆ ก็เช่นกัน เมื่อมันผ่านเข้ามาให้เราชื่นใจ แล้วมันก็จะผ่านไปเหมือนกัน
ดีหรือร้าย สุขหรือทุกข์ สมหวังหรือผิดหวัง
แล้วเราก็จะผ่านมันไป


วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นักเรียนกับครู


เครดิตรูปจาก http://www.interscholarship.com/

หลายคนคงเคยได้ยินว่า เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน หลายอย่างเปลี่ยน
คงจะมีแต่เราที่ต้องตั้งรับความเปลี่ยนแปลงให้ทัน
กว่า 3 เดือนที่ผ่านมา ถือได้ว่าได้ลองลงสนามประลองแบบใหม่ ที่ว่า ใหม่เพราะเป็นสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำ และไม่เคยคิดว่าจะทำได้
เหมือนกับได้ลองเล่นกีฬาที่ตัวเองไม่ถนัด จากนักบาสเกตบอลที่ต้องคอยเลี้ยงลูกหลบผู้ต่อสู้ และมีจุดหมายอยู่ที่ห่วง คราวนี้ลองเปลี่ยนมาหันจับไม้กอลฟ์ โฟกัสอยู่กับลูกกลม ๆ เล็ก ๆ มีหลุมแต่ละหลุมเป็นเป้าหมาย
สุภาษิตฝรั่งที่ว่า เซด อิส อีซี่เอ่อร์ แดน ดัน” (said is easier than done) เห็นจะจริง ลองยืนมองว่าเราน่าจะทำได้ มันต่างกันทั้งอารมณ์และความรู้สึกเมื่อได้ลงมือทำจริง ๆ
จากเด็กขี้อาย เป็นเด็กหลังห้อง ชอบงานขีด ๆ เขียน ๆ คราวนี้ลองเปลี่ยนตัวเองมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ย้ายตัวเองจากหลังห้องมายืนอยู่หน้าห้อง ส่วนตัวคิดว่าการเป็นอาจารย์เป็นครูไม่ยาก แต่การเป็นอาจารย์ที่ดี หรือครูที่ดีและประสบความสำเร็จนั้นยาก
อันนี้เจอมากับตัวเองจริง ๆ ก็เมื่อตอนที่เราต้องเอาความรู้ที่เรามีไปสอนนักศึกษา ความตั้งใจนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การที่เราสอนเด็กแล้ว แล้วเด็กไม่มีความใส่ใจหรือไม่สนใจในสิ่งที่เราสอนแต่จะให้โทษเด็กฝ่ายเดียวคงไม่ถูก เพราะมีอีกส่วนหนึ่งที่เราคงจะหนีความรับผิดชอบไปไม่ได้
ลองมองให้ลึก
ลองมองให้ตรง แบบไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด
มันมีที่มาและเหตุผลของมัน
ที่จั่วหัวไว้ตรงต้นคอลัมน์เรื่องการเปลี่ยนแปลง ก็เพราะว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยน ความคิดเปลี่ยน วิถีในการดำเนินชีวิตย่อมเปลี่ยน เด็กสมัยนี้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง อยากมาเรียนก็มา ไม่อยากมาก็ไม่มา ไม่เคยคิดว่าจะต้องมานั่งจดเลคเช่อร์ มานั่งเพื่อให้ได้คะแนนเข้าห้องก็เท่านั้น การบ้านก็ไม่จำเป็นต้องส่งตามเวลาที่อาจารย์สั่ง
อันนี้เหมือนจะเป็นการรื้อสิ่งที่เราถูกปลูกฝังมาตลอดระยะเวลาที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะวิชาชีพสื่อมวลชนที่ไม่มีทางลัด ไม่มีคอนเนคชั่น ทุกอย่างต้องได้มาจากความขยัน ความตั้งใจ มานะอดทน และที่สำคัญที่สุดคือการตรงต่อเวลาและการซื่อสัตย์ต่ออาชีพ  
แต่มองในมุมกลับแบบร้อยแปดสิบองศา ที่เด็กเป็นแบบนี้ เพราะวิธีการสอนของเรามันห่วยรึเปล่า ระบบการศึกษาของเรามันพิกลพิการใช่ไหม เราถึงเรียกความสนใจจากเขาได้ไม่มากพอ ต้องมองให้ลึกถึงสาเหตุของปัญหา และต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
เราลองมานั่งเปิดอกคุยกันดีไหม
ว่าแล้วก็ว่าจะไปนั่งคุยกันกับนักเรียนแบบตัวต่อตัวในห้องสักทีว่าปัญหามันอยู่ที่ตรงไหน อาจารย์สอนไม่รู้เรื่องรึเปล่า หรือนักเรียนอยากจะเรียนวิธีไหน เรื่องของวิธีเรียนนี่สำคัญ เพราะถึงแม้เราจะมีเนื้อหาเดียวกัน แต่การสื่อให้ถึงเนื้อหามันมีอยู่หลายวิธีที่สามารถจะทำได้ และสามารถไปถึงจุดหมายเดียวกันได้
แทนที่จะโทษเด็กอย่างเดียว
ลองกลับมาดูความผิดพลาดของตัวเองบ้างจะดีกว่าไหม?

วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อิสรภาพ

เครดิตรูปจาก http://www.theaustralian.com.au/

เราคงเคยได้ยินหลายคนพูดว่า อิสรภาพเป็นสิ่งที่หอมหวาน
แต่สำหรับเรา อิสรภาพเหมือนขนมหวานมากกว่า
คืออร่อยกับมันได้บ้าง แต่ถ้ามากเกินไปฟันก็อาจจะผุเอา
อิสรภาพก็เช่นกัน มันคงจะต้องมีขอบเขตตามที่มันควรจะเป็น
ตามพจนานุกรม ในความหมายทั่วไป คำว่า อิสรภาพหมายถึง สภาวะที่เป็นอิสระ ไม่ถูกจำกัด ไม่ถูกกักขังหรือถูกตีตรวน
เหตุการณ์ที่อิยิปต์ในขณะนี้ อาจจะทำให้เราเข้าถึงจิตใจของมนุษย์ ที่จำเป็นต้องลุกขึ้นต่อสู้ ดิ้นรน  ฟาดฟัน เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นอิสระจากการกดขี่ของชนชั้นที่มีอำนาจ
ภาพที่คนหลายล้านคน ออกมาเดินขบวนประท้วงบนท้องถนนในกรุงไคโร ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอิยิปต์ เป็นภาพที่ดูแล้วเชื่อว่าถ้าทุกคนได้เห็น จะรู้สึกเศร้าสลดไปกับเหตุการณ์นองเลือด ครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของชนชาติอาหรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ชอง ชาก รุสโซ กล่าวว่าสภาพที่เป็นอิสระนั้น เป็นสิ่งที่ติดมากับความเป็นมนุษย์ เป็นหน้าที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการมีวิญญาณและร่างกาย ผลสืบเนื่องก็คือการปฏิสัมพันธ์ต่อมาหลังจากการเกิด ล้วนแต่เป็นการสูญเสียความเป็นอิสรภาพไป ไม่ว่าจะเป็นทั้งโดยความสมัครใจและไม่สมัครใจ
ทุกวันนี้เรามีอิสรภาพกันแค่ไหน?
หรือเปรียบเปรยกันแบบง่าย ๆ เรากินขนมหวานมากหรือน้อยเกินไปรึเปล่า?
หลังจากที่เราใช้ชีวิตอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกามาหลายปี ต้องถือว่าคนของเขาใช้อิสรภาพกันอย่างชุ่มปอด จนบางครั้งเราเองรู้สึกว่ามันมากเกินไปรึเปล่า กับการกินขนมหวานแบบนิวยอร์คชีสเค้กกันตลอดเวลา
ระบบรีฟันด์ ที่มักจะถกเถียงกันบ่อยครั้งในหมู่คนไทยว่า ถ้าระบบนี้เอาไปใช้ในเมืองไทย ธุรกิจของเราคงจะมีแต่เจ๊งกับเจ๊ง อันนี้ก็ไม่ถียง เพราะพี่ไทยคงเดินชักเท้าคืนของกันเป็นว่าเล่น แต่บางครั้งเราเองก็รู้สึกว่าคนอเมริกันเองก็ใช้สิทธิ์นี้กันมากเกินไป
อย่างพวกเสื้อผ้าที่ซื้อไปแล้วไม่ชอบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สามารถเอาไปคืนได้ แต่บางทีก็มีคนหัวใส ซื้อเอาไปใส่ ใส่ไม่ใส่เปล่าแถมเอาไปซักอีกต่างหาก แล้วเอาไปคืนเมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือน เลยเป็นภาพที่เราคุ้นตาตามเคาน์เตอร์คืนของ อาจจะมีการทะเลาะกันบ้างเล็กน้อยเมื่อมีการซักถามถึงสาเหตุที่ต้องการคืนของ
และสุดท้ายก็จะจบลงตรง
ดิส อิส มาย ไรท์
ดิส อิส มาย ฟรี ด้อม
ถามหน่อยเถอะมันฟรีด้อมยังไง (ฟร่ะ) ก็ยูไปทำข้าวของเขาเสียหาย เสื้อผ้าที่ซักแล้ว ๆ เอาไปคืน นั่นหมายความว่า เขาไม่สามารถเอาไปขายต่อได้ นี่ยูกำลังทำให้คนอื่นเดือนร้อนนะเนี่ย
มีตัวอย่างการใช้อิสรภาพของคนอเมริกันมากมาย ที่ได้ยินแล้วบางทีก็ขำ ๆ แต่บางทีก็ขำไม่ออกอยู่หลายเรื่อง อย่างลูกค้าที่ร้านก็มีอยู่หลายคนที่เอ็นจอยกับคำว่าอิสรภาพกันแบบฟุ่มเฟือย ไม่ชอบ ไม่อร่อย (แต่กินหมด) และไม่จ่ายมีกันให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน
ถึงได้บอกว่า ถ้าอิสรภาพเป็นของหวาน เราต้องรู้จักกินมันให้พอดี ๆ อย่าตะกละมูมมามจนพาลทำให้เราต้องไปพบหมอฟันกันบ่อย ๆ
เอาให้มันแบบพอดี ๆ ก็แล้วกันดีไหม?