ดร. วรภัทร์ ภู่เจริญ |
เคยคิดเล่นๆแบบตลกร้ายว่า นี่เราโดนหลอกให้เข้ามาอยู่ในระบบการศึกษา 12 ปีใช่รึเปล่า คือตั้งแต่ประถม 1 ถึงมัธยม 6 จากนั้นก็ตะเกียกตะกายสอบแข่งกันหน้าดำเคร่งเครียดเพื่อเข้าไปในระบบมหาวิทยาลัยอีก 4 ปี ทั้งๆที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองทำอะไรได้ดี หรือฝันอยากเป็นอะไร
ใครเป็นคนบอกว่าต้อง 12 ปี แล้วจะต้องต่ออีก 4 ปี!!! ซึ่งนี่ถือเป็นมาตรฐานการศึกษาของเด็กไทยจริงๆหรือ?
ใครบอก ใครตั้งกฎเกณฑ์ แล้วอะไรมาวัดว่าต้องเป็นเช่นนั้น
มาฟังสัมภาษณ์มิสเตอร์ “จับฉ่ายแมน” หรือดร. วรภัทร์ ภู่เจริญ ในรายการเจาะใจ (ซึ่งเขียนไปเมื่อาทิตย์ที่แล้ว) ว่าเป็นคนไทยไม่กี่คนที่ได้ร่วมงานกับองค์กรนาซ่า แต่ในที่สุดกับปฏิเสธงานที่ได้รับมอบหมายเป็นครั้งสุดท้าย ว่าจะให้เดินทางไกลถึง 450 ล้านปีแสงเพื่อออกไปสำรวจว่าสุดขอบโลกมีอะไร
เมื่อมุมมองชีวิตเปลี่ยน เขาตัดสินใจหันหลังกลับมาเดินทางครั้งใหม่ แต่คราวนี้เป็นการเดินทางเข้าไปสำรวจหัวใจตัวเอง เป็นการสัมภาษณ์ที่สนุกมาก มีเนื้อหาสาระ ให้ข้อคิดให้อาหารกับรอยหยักของสมองของเราได้อย่างมาก แล้วพอมาฟังเขาพูดถึงระบบการศึกษาไทย
แหม! อันนี้มันกระแทกใจเราเข้าอย่างจังเบ้อเร่อ!
ดร. วรภัทร์พูดแบบค่อนข้างมั่นใจและฟันธงว่า ระบบการศึกษาของไทยล้มเหลว เปรียบเด็กไทยเหมือนกับ “ลูกอีแร้ง” ที่ต้องคอยแม่อีแร้งมาป้อนอาหารใส่ปาก ให้ออกไปศึกษาค้นหาเอง อันนี้ทำไม่เป็น ต้องคอยไปนั่งอยู่ตามโรงเรียนกวดวิชา
ซึ่งอันนี้มันสะท้อนอะไรได้อย่างหนึ่งว่า ครูในโรงเรียนให้ความรู้ไม่พอหรือ ทำไมเด็กต้องไปเสียเงินเพิ่มเติมอีก หรือครูคิดแค่ว่าให้ไปแค่นี้ก่อน อยากได้มากกว่านี้ต้องไปเจอฉันที่โรงเรียนกวดวิชา ฮา ๆ ๆ ๆๆ
นี่ระบบมันผิดเพี้ยนไปกันใหญ่แล้ว!!!
จำได้ว่าตอนตัวเองเรียนอยู่มัธยม 3 หัวเลี้ยวหัวต่อจะเข้ามัธยม 4 สมัยนี้ไม่รู้เป็นอย่างไร แต่สมัยโน้นทุกคนต้องมุ่งหน้าไปโรงเรียนเตรียมอุดม ไอ้เราก็ไม่ต่างอะไรกับลูกอีแร้ง คือไปสมัครเรียนเพิ่มเติมที่โรงเรียนกวดวิชากับเขาเหมือนกัน ซึ่งตอนนี้พอมองย้อนกลับไปแล้วอยากจะบ้า แต่อย่างว่าคนเราอาจจะทำอะไรโง่ๆสักอย่างสักครั้งหนึ่งในชีวิต อันนี้น่าจะให้อภัยกันเนอะ ๆ ๆ
ตอนไปนั่งเรียน โอ้โหทรมานมาก ถามตัวเองในใจว่า “นี่ตรูมานั่งทำอะไรที่นี่ (หว่ะ)”
อยากสอบติดก็อยากแหละ แต่ใจมันลอยออกนอกห้องเรียนแถวกิ่งเพชรไปโน่นแล้ว สนามบาสเกตบอล… ทนเรียนไปได้สักพัก บอกแม่ว่าไม่ไหวแล้ว สอบไม่ติดอย่าว่ากันนะ ตอนนี้ขอไปเล่นกีฬาก่อน แล้วด้วยความบังเอิญหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งข้อสอบมันเป็น multiple choices เราอาจดวงดีมั่วตอบถูก เลยได้เข้าไปทำโก้อยู่โรงเรียนที่ใครๆก็ว่าเป็นโรงเรียนอันดับหนึ่งของประเทศ
ซึ่งอันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ใครเอามาตรฐานอะไรมาวัด
แล้วจับพลัดจับผลูก็สอบเข้านิเทศ จุฬาฯ ได้ ซึ่งอาจจะเป็นความบังเอิญอีกครั้งหนึ่งของชีวิตก็ได้ใครจะไปรู้ พอมานั่งฟังสัมภาษณ์ดร. วรภัทร์เรื่อง “ครูกอดตำราพากันจมน้ำตาย” คือตำราก็ตำราเดิม ไม่รู้ผ่านไปกี่สมัยแล้วก็ไอ้เล่มเดิมนี่แหละ สอนก็สอนแบบขอไปที ข้อสอบที่ออกก็ข้อสอบเดิม ซึ่งออกมาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว
จำได้ว่าก่อนสอบหนึ่งคืน ก็เอาข้อสอบเก่ามาท่อง ๆ ๆ ๆ ๆ พรุ่งนี้ไปสอบ แค่เนี้ยะ!
ดร. วรภัทร์เขียนเรื่องระบบการศึกษาไทยไว้ในเว็บไซต์ www.gotoknow.org ชื่อ blog ว่า ariyachon (อริยชน) ว่างๆลองเข้าไปอ่านดูแล้วรู้สึกว่าเออ ถ้าบ้านเมืองเรามีคนประเภทนี้เยอะๆ ประเทศเราคงเจริญไปถึงไหนๆแล้ว
เขาเขียนไว้ตอนหนึ่งว่าในสมัยโบราณ การจะเรียนผ่านวิชาอะไร เขาใช้แบบ สอบ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ จนผ่าน เรียนไปกี่ปีก็ช่าง เช่น หมอชีวกไปเรียนที่ตักศิลา สอนวันสุดท้าย อาจารย์ถามว่า "ในระยะ 1 เส้น รอบตึกนี้ ต้นไม้ใดทำยาไม่ได้บ้าง"
หรือเส้าหลิน ใช้การผ่านด่าน 18 อรหันต์
“การศึกษายุคใหม่แบบชุ่ยๆ จบๆไป เร่งให้จบ 4 ปี ใช้ระบบตัดเกรดมันมักง่ายดี ..... พอจบแล้ว โยนภาระให้ องค์กร หน่วยงานต่างๆ รับภาระไปสอนต่อ”
ใครๆก็คงอยากจะเป็นปลาที่ว่ายตามกระแสน้ำ เพราะมันว่ายได้เร็วดี ไม่เหนื่อย ถึงฝั่งเหมือนๆกัน แต่จะมีสักกี่คนที่ประกาศทุบโต๊ะดังเปรี้ยง พร้อมประกาศว่า “เราจะขอเป็นปลาที่ว่ายทวนกระแส”
และแน่นอน ถ้าหากจะเปรียบเทียบ ดร. วรภัทร์คงจะเป็นหนึ่งในปลาประเภทหลัง ว่ายได้ช้าๆ เหนื่อยหน่อย แต่สักวันคงถึงฝั่งเหมือนๆกัน
(เป็นบทความตีพิมพ์ในคอลัมน์ต่างองศา วันที่ 23 มีนาคม 2553)
อ่านจาก Blog แล้วก้อเห็นด้วยเหมือนกันค่ะ
ตอบลบแต่ ... ยังมีคำถามที่ค้างคาใจคือ ทำไม คนที่เก่งๆ ดีๆ อย่าง ดร.วรภัทร์ คนที่เป็นอาจารย์ในจุฬาส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากคบค้าสมาคมกับแกคะ หรือเป็นเพราะแกเก่งเกินไป มีความคิดแตกต่างจากอาจารย์ท่านอื่นเกินไป หรือ ......
หรืออย่างเด็กนักศึกษาบางคน ที่มีแนวคิดที่เรียกว่า ขบฏ กับค่านิยมทั่วไป คิดสวนกระแสกับคนอื่นๆในวัยเดียวกัน นั่นก้อด้วย
หรือคนไทย จะรับไม่ได้กับคนที่คิดแปลกแยกจากตน และ คนที่เก่งกว่าคะ
ที่ถามพี่ Jira เพราะสงสัย เท่านั้นเองค่ะ